แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ฆ่าผู้ตายแล้วจึงได้เอาทรัพย์สินและรถจักรยานยนต์ของกลางไป จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 กระทงหนึ่ง และฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง หามีความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อจะเอาทรัพย์สินตามมาตรา 289 (7) ไม่ แม้จำเลยที่ 3 จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลว่าได้กระทำความผิดฐานดังกล่าวด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามข้อหาที่ให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษในข้อหาความผิดที่รับสารภาพหาได้ไม่
เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่การกระทำเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา 289 (7) และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ฎีกา ศาลก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙, ๓๔๐, ๘๓ ริบไม้ท่อนของกลาง รถจักรยานยนต์ของกลางคืนเจ้าของและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๔๐,๕๐๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๔ ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์หมดแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๓๓๕ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามมาตรา ๒๘๘ จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา ๓๓๕ จำคุกคนละ ๔ ปี จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ คงจำคุกกระทงแรก ๒๕ ปี กระทงหลัง ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒๗ ปี จำเลยที่ ๔ ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วถือว่ารับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา แต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ จำคุกกระทงแรก ๓๓ ปี ๔ เดือน จำคุกกระทงหลัง ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด ๓๕ ปี ๔ เดือน ไม้ท่อนของกลางให้ริบ รถจักรยานยนต์ของกลางได้ความว่าได้คืนแล้ว ให้ยกคำขอส่วนนี้ ให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันคืนทรัพย์ที่ลักไปหรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคา ๔๐,๕๐๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์ คำขอของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ นอกจากนี้ให้ยก ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๗) มาตรา ๓๓๙ วรรคสุดท้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ (๗) ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา แม้จำเลยที่ ๔ จะให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์หมดแล้วนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมากมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ จำคุกจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ คนละตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาที่ให้การรับสารภาพไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้น แต่ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ ฆ่าผู้ตายแล้วจึงได้เอาทรัพย์สินและรถจักรยานยนต์ของกลางไป จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ กระทงหนึ่ง และฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย หามีความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อจะเอาทรัพย์สินตามมาตรา ๒๘๙ (๗) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่แม้จำเลยที่ ๓ จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลว่าได้กระทำความผิดฐานนี้ด้วยแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำความผิดตามข้อหาที่ให้การรับสารภาพศาลก็ลงโทษในข้อหาความผิดที่รับสารภาพหาได้ไม่ คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามมาตรา ๓๓๕ (๑)(๗) วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่การกระทำเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา ๒๘๙ (๗) และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ ๔ จะมิได้ฎีกาศาลก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๔ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๓๓๕ (๑)(๗) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา ๓๓๕ (๑)(๗) วรรคสาม จำคุกคนละ ๔ ปี จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา แม้จำเลยที่ ๔ จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเมื่อสืบพยานโจทก์แล้วก็นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมากมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ คงจำคุกกระทงแรก ๒๕ ปี กระทงหลัง ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ คนละ ๒๗ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.