แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขายระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 แต่จำเลยยังให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและโจทก์ก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไปโดยจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้อันถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง
จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกจากงานโดยจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือน ให้โจทก์พิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวมิใช่เป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ทำงานกับบริษัทฟูจิซีร็อกซ์ จำกัด ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยชักชวนโจทก์มาทำงานกับจำเลยในตำแหน่งหัวหน้าพนักงานขายระดับ 6 ซึ่งสูงกว่าที่ทำงานเดิม โจทก์จึงลาออกจากบริษัทฟูจิซีร็อกซ์ จำกัด และทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 โดยทดลองงาน 3 เดือน เมื่อครบกำหนดทดลองงานแล้ว จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในตำแหน่งหัวหน้าพนักงานขายโจทก์ทำงานกับจำเลยด้วยดีตลอดมาและผลการทำงานอยู่ในเกณฑ์ดีค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 27,080 บาท ต่อมาจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์และไล่โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นการผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันเป็นเงิน 81,240 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงิน54,160 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4 วัน เป็นเงิน 3,610 บาท ค่าเสียหายที่ไม่อาจกลับมาทำงานได้อีกจำนวน 50 เดือน เป็นเงิน 1,354,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,493,010 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การออกหนังสือเตือนและคำสั่งของจำเลยเป็นสิทธิอันชอบธรรมของจำเลยในฐานะนายจ้างที่จะพิจารณาออกคำสั่งลดตำแหน่งพนักงานรวมทั้งโจทก์ด้วย โดยจำเลยยังคงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ในอัตราเท่ากับพนักงานขายระดับ 6 เช่นเดิม แม้จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งโจทก์เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 การลดตำแหน่งเป็นไปตามความเหมาะสมในการทำงานและการบริหารงาน เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตาม แต่โจทก์ปฏิเสธที่จะลดตำแหน่งหรือลาออกแล้วรับเงินช่วยเหลือ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม2540 เป็นต้นไป โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลใด ๆ ให้จำเลยทราบ และมิได้ลางานตามระเบียบถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และเลิกสัญญาจ้างต่อจำเลยแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์ทำงานกับบริษัทฟูจิซีร็อกซ์ จำกัด เมื่อประมาณปี 2538 จำเลยชักชวนโจทก์มาทำงานกับจำเลยโดยจำเลยเสนอให้เงินเดือนมากกว่า โจทก์จึงมาทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2538 ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 27,080 บาท วันที่ 1 ตุลาคม 2540 จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องไม่สามารถควบคุมพนักงานขายให้ทำยอดขายเดือนละ400,000 บาท ต่อคน และจำเลยแจ้งลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 แต่เงินเดือนเท่าเดิม โจทก์ชี้แจงว่า เหตุที่ยอดขายของพนักงานขายไม่ได้ตามกำหนดเพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่าหากจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป โจทก์ยินดีลาออก แต่โจทก์ขอค่าตอบแทนเป็นเงิน 6 เดือน ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2540 จำเลยให้โจทก์ไปทำหน้าที่พนักงานขายหากโจทก์ต้องการลาออกจำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเพียง 3 เดือน โจทก์ทำงานกับจำเลยถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2540 หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้ไปทำงานอีก วันที่ 24 ตุลาคม2540 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากโจทก์ขาดงานติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรเช่นนี้ เห็นได้ว่าหนังสือของจำเลย ฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2540 เอกสารหมาย จ.1 ไม่ปรากฏข้อความใดอันจะถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์ เพียงแต่จำเลยย้ำเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไปทำหน้าที่พนักงานขาย มิฉะนั้นจำเลยจะลงโทษและเลิกจ้างโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังให้โจทก์เลือกว่าหากโจทก์ลาออกจำเลยจะจ่ายเงินให้เท่ากับเงินเดือน 3 เดือน โดยให้โจทก์แจ้งแก่จำเลยภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2540 ส่วนที่จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งของโจทก์เป็นการปรับเปลี่ยนหน้าที่ตามที่จำเลยเห็นว่าเหมาะสม หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องโจทก์ชอบที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กรณีมิใช่การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้อันถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แต่อย่างใด โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2540 ตามฟ้องส่วนที่โจทก์ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2540 โดยไม่แจ้งเหตุให้จำเลยทราบ และโจทก์ไม่ได้ลางาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร วันที่ 24 ตุลาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวได้ เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีกต่อไปพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 เป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 หรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง หมายถึง การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน เพราะไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องการลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขายระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถควบคุมพนักงานขายให้ทำยอดขายได้คนละจำนวน 400,000 บาทต่อเดือน แต่จำเลยยังให้โจทก์รับเงินเดือนเท่าเดิม ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2540 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำหน้าที่พนักงานขาย ระดับ 5 รายละเอียดตามหนังสือเตือนเอกสารหมาย จ.1 เห็นได้ว่า แม้จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งของโจทก์ จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 แต่จำเลยยังให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและโจทก์ก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม เช่นนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไปโดยจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้อันถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ดังที่โจทก์อ้าง
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกจากงานโดยจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือน แสดงว่า จำเลยมีความประสงค์บอกเลิกจ้างโจทก์แล้วนั้น เห็นว่า แม้หนังสือเตือนเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกโดยจำเลยยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือนก็เป็นเพียงข้อเสนอของจำเลยให้โจทก์พิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวมิใช่เป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด
พิพากษายืน