แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและความเสียหายดังกล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรืองดเว้นในสิ่งที่ควรกระทำ การที่ ส. ขับรถยนต์บรรทุกแก๊สด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์บรรทุกแก๊สพลิกคว่ำ ความเสียหายที่เกิดเพราะรถยนต์บรรทุกแก๊สมีสภาพและอุปกรณ์ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ได้รับผลร้ายแรงเท่านั้น มิใช่ผลโดยตรงของความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันเกิดเหตุมาใช้ หากจะถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันดังกล่าวออกมาใช้งานจนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เสียหาย แม้จะเป็นการผิดกฎหมายในส่วนของการนำรถยนต์บรรทุกแก๊สมาใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลละเมิดไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าแก๊ส มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และประทับตราสำคัญกระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 6 เป็นทายาทโดยธรรมของนายสุทัน ฝักแคเล็ก ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 71-0415 กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 7 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533นายสุทันขับรถยนต์บรรทุกถังแก๊สประเภทถังคู่บรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวจึงเป็นวัตถุไวไฟโดยมิได้ติดตั้งอุปกรณ์นิรภัยและไม่ได้รับอนุญาตขนย้ายแก๊สจากกรมโยธาธิการไปตามทางด่วนสายดินแดง – บางนา มุ่งหน้ามาเลี้ยวเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่เพื่อนำแก๊สไปส่งลูกค้าอันเป็นการกระทำหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยความประมาทขับรถลงทางด่วนด้วยความเร็ว เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางลาดชันและทางแยกได้เลี้ยวรถอย่างกะทันหันเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ ทำให้แก๊สรั่วออกมาอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นบริเวณกว้างไปสัมผัสกับเปลวไฟลุกไหม้รถยนต์และอาคารที่ตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหก ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,046,330 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,995,400 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,092,000 บาทแก่โจทก์ที่ 3 และจำนวน 380,000 บาทแก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 7 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 7 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกแก๊สคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 7 จะใช้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดไม่เกิน 350,000บาท เหตุเกิดขึ้นครั้งนี้ผู้ได้รับความเสียหายมีจำนวนมาก จำเลยที่ 7 ไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนจึงนำเงินเต็มจำนวนที่ต้องรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางแล้ว จำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งหก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันชำระให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน7,692,080 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,718,100 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,241,600 บาทและโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นเงินคนละ 71,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 กันยายน 2533 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 6 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสุทัน ฝักแคเล็ก ที่ตกได้แก่จำเลยที่ 6 ยกฟ้องโจทก์ทั้งหกสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7
โจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหกโดยชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,692,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2 นายสุทันเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของนายสุทัน และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุทำละเมิดโดยตรง จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 หากกรรมการทำผิดหน้าที่ดังกล่าวจึงจะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อบริษัทและบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บัญญัติว่า “ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่” จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและความเสียหายดังกล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรืองดเว้นในสิ่งที่ควรกระทำ การที่นายสุทันขับรถยนต์บรรทุกแก๊สด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์บรรทุกแก๊สพลิกคว่ำ ความเสียหายที่เกิดเพราะรถยนต์บรรทุกแก๊สมีสภาพและอุปกรณ์ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ได้รับผลร้ายแรงเท่านั้น แต่มิใช่ผลโดยตรงของความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันเกิดเหตุมาใช้ หากจะถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันดังกล่าวออกมาใช้งานจนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็มิได้เสียหาย แม้จะเป็นการผิดกฎหมายในส่วนของการนำรถยนต์บรรทุกแก๊สมาใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลละเมิดจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 6 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น บางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหกโดยชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,092,080 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์ทั้งหกสำหรับจำเลยที่ 2