คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้มีอำนาจในการปกป้องรวมทั้งการฟ้องคดีในศาลไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และตามคำฟ้องก็บรรยายว่า ช. กระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับท้ายคำฟ้อง ช. ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองและในใบแต่งทนายความก็ได้ระบุว่าลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 กับในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่า ช. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)
สิทธิบัตรไทยของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เฉพาะกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น กล่าวคือได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยการนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกโดยมีลักษณะพิเศษคือก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าวส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาเชื่อมต่อนั้นจะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช้ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น ไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยวิธีขึ้นรูปโดยใช้ความร้อนหรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น
จำเลยผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรให้ใช้ซึ่งเป็นสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูป จึงครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงโดยมีการทำให้ปลายเหล็กเส้นเสริมแรงขยายใหญ่ขึ้นก่อนทำเกลียว ด้วยกรรมวิธีการตีขึ้นรูปทุกกรรมวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตีขึ้นรูปแบบเย็น แบบร้อน หรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น แม้จะมีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ ก็แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และมอบอำนาจให้นายชอง มารี ปิตอง หรือจีน มารี ปิตง ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัทกรุงเทพมหานครมีนายชอง มารี ปิตอง หรือจีน มารี ปิตง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2538 ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้เครื่องหมาย (ชื่อ) ทางการค้าว่า “BARTEC” อ่านว่า บาร์เทค โจทก์ที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และจนถึงวันฟ้อง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วยการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีต โดยเลียนและใช้กรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 ตรงตามข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรที่โจทก์ที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนและอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งกรรมวิธีการผลิตดังกล่าวมีคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอยในด้านความปลอดภัยในการใช้งาน สะดวกต่อการนำไปใช้ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป ขจัดข้อเสียรอยแตกร้าวที่ปรากฏขึ้นในส่วนด้านที่แข็งและบริเวณข้อต่อแบบเชิงกลในกรณีทั่ว ๆ ไป หรือทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะการประดิษฐ์ที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 พร้อมกับขาย เสนอขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้นขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36,77, 85 และ 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 และริบของกลางทั้งหมด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36(2), 85 และ 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 ฐานร่วมกันผลิต มีไว้เพื่อขาย เสนอขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตรให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 150,000 บาท เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ของกลางริบ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมี
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีต ตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 เอกสารหมาย จ.6 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชอง มารี ปิตอง เป็นผู้มีอำนาจในการปกป้องรวมทั้งการฟ้องคดีในศาลไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 และ จ.35 โดยมีโนตารี-ปับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส รับรอง และตามคำฟ้องก็บรรยายว่านายชองกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับท้ายคำฟ้องนายชองได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองและในใบแต่งทนายความก็ได้ระบุว่าลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 กับในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่านายชองลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลเนื่องจากมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการประชุมสามัญวาระพิเศษของบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 ในเอกสารหมาย จ.35 ว่าที่ประชุมได้แต่งตั้งให้นายปาสกาล ซุบติล เป็นผู้ชำระบัญชี โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการและมอบอำนาจให้นายปาสกาลดำเนินการเกี่ยวกับยกเลิกกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามกฎข้อบังคับและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการโอนทรัพย์สินและให้ความเห็นชอบบัญชีขั้นสุดท้ายสำหรับการยกเลิกกิจการ ให้นายปาสกาลเป็นผู้แทนของบริษัทสำหรับสิทธิทุกอย่าง การดำเนินการและความรับผิดชอบทั้งหมดดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภารกิจในการยกเลิกกิจการของบริษัทโจทก์ที่ 1 ยังคงดำเนินอยู่ การยกเลิกและการจำหน่ายทั้งหมดหรือบางส่วน ขายเลหลังหรือขายปลีกในทุกรูปแบบที่เห็นว่าจะเป็นผลดีก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้ต่อบริษัทดำเนินการขายหรือโอนมูลค่าการซื้อขายภายใต้เงื่อนไขที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสมโดยไม่ต้องทำความตกลงกันแต่อย่างใด จัดเก็บเงินรายได้ทั้งหมดของโจทก์ที่ 1 ออกใบเสร็จรับเงิน จัดการเกี่ยวกับการจัดแบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด ดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีและการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การเจรจาต่อรอง การประนีประนอมและระงับสิทธิใด ๆ ทั้งหมด ดำเนินการด้านกฎหมายและคดีความต่าง ๆ เรียกร้อง และป้องกันเป็นผู้แทนโจทก์ที่ 1 ในการดำเนินการแก้ไขหรือที่เกี่ยวกับการยกเลิกกิจการตามขั้นตอนของกฎหมายและให้นายปาสกาลดำเนินการทั้งหมดและจัดการทุกเรื่องที่จำเป็นโดยทั่วไปโดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อให้การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินและการยกเลิกกิจการของบริษัทโจทก์ที่ 1 เสร็จบริบูรณ์ เอกสารรายงานการประชุมสามัญวาระพิเศษในเอกสารหมาย จ.35 ดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศโดยนายมาดแลน เดชาแนล ได้รับรองว่าเอกสารฉบับนี้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสจากรายงานการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่านับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 ซึ่งที่ประชุมบริษัทโจทก์ที่ 1 มีมติให้แต่งตั้งนายปาสกาลเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส บริษัทโจทก์ที่ 1 ยังคงตั้งอยู่เพื่อให้นายปาสกาลดำเนินการชำระบัญชีบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 สำหรับสิทธิทุกอย่าง การดำเนินการและความรับผิดชอบทั้งหมด ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ที่ 1 อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภารกิจในการยกเลิกกิจการของโจทก์ที่ 1 ยังคงดำเนินอยู่และเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในการดำเนินการเกี่ยวกับการยกเลิกกิจการของโจทก์ที่ 1 ตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่นดังนี้ บริษัทโจทก์ที่ 1 จึงหาได้สิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ เมื่อนายปาสกาลซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 และมีอำนาจดำเนินการทุกเรื่องแทนโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม2540 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชอง มารี ปิตอง เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โดยมีโนตารีปับลิก และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส รับรอง ตามหนังสือมอบอำนาจสิทธิบัตรในเอกสารหมาย จ.35 โจทก์ที่ 1 โดยนายชองผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 26มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีต ตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2538 ของโจทก์ที่ 1 ด้วยการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยใช้กรรมวิธีการผลิตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 อันเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วย มาตรา 36(2) หรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ของโจทก์ที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ว่า สิทธิบัตรกรรมวิธีดังกล่าวมีข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 พอสรุปได้คือ กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเสริมแรงสำหรับคอนกรีตซึ่งใช้โดยเฉพาะกับโครงสร้างหรือการก่อสร้างชิ้นงานที่ทำจากคอนกรีตเพื่อต่อเชื่อมแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกัน โดยนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเส้นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกต่อเชื่อมที่มีเกลียวทั้งนี้โดยมีลักษณะพิเศษคือ ก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าว ส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาต่อเชื่อมนั้นจะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช้ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น (Cold Forging) ซึ่ง “กรรมวิธี” ที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรนั้น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ได้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง วิธีการ กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้น ๆ ด้วย โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรกรรมวิธีดังกล่าวเท่านั้นที่มีสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรนั้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (2) โจทก์ที่ 1 มีนายชอง มารี ปิตอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 นางสาวปริญดา พัฒนเมฆา ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายชอง และนายชัยยงค์ สุทธาภาศ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทในเครือโจทก์ที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อประมาณปี 2539 นายชองรับทราบมาว่าจำเลยทั้งสองได้ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 นายชองจึงได้แต่งตั้งทนายความให้มีหนังสือให้จำเลยทั้งสองยุติการกระทำอันเป็นละเมิดสิทธิบัตรในกรรมวิธีผลิตของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ต่อมาปี 2540 จำเลยทั้งสองฟ้องโจทก์ที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยอ้างว่าสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 มิได้เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 2 เคยทำงานกับบริษัทโจทก์ที่ 2 โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตลาดและฝ่ายขาย จำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ที่ 1 สืบทราบว่าจำเลยทั้งสองยังกระทำการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 อยู่ นายชองจึงแจ้งให้นางสาวปริญดาผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายชองดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการละเมิดกรรมวิธีการผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยวิธีอัดเย็นตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 บริษัทพิงค์เคอร์ตั้น จำกัด ซึ่งนางสาวปริญดาทำงานอยู่ได้ส่งสายสืบไปยังสถานประกอบ-การของจำเลยที่ 1 พบว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 จริง นางสาวปริญดาจึงไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ เจ้าพนักงานได้ออกหมายค้นและไปทำการค้นที่สถานประกอบการของจำเลยที่ 1 พบเหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีการขยายหน้าตัดและทำเกลียวไว้แล้ว พบปลอกเกลียวเครื่องอัดเย็นสำหรับขยายหน้าตัดเหล็กเส้นและเครื่องทำเกลียว 1 เครื่อง โจทก์ที่ 1 ได้ส่งท่อนเหล็ก 2 แท่ง แท่งหนึ่งมีเกลียวส่วนอีกแท่งหนึ่งไม่มีเกลียวซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสองไปให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตรวจสอบว่าบริเวณที่เป็นเกลียวนั้นผ่านกรรมวิธีอะไรในการขึ้นรูปได้ความจากคำเบิกความของนายประทีป วงศ์บัณฑิต รักษาการหัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจสอบสภาพการใช้งาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเหล็กทั้งสองเส้นดังกล่าว ท่อนเหล็กที่มีเกลียวผ่านกรรมวิธีกระบวนการขึ้นรูปแบบเย็นหรืออัดเย็น (Cold Forging หรือ Cold Upsetting) เนื่องจากมีความแข็งกว่าท่อนเหล็กในสภาพก่อนมีการขึ้นรูปแตกต่างกับการขึ้นรูปแบบร้อนที่จะไม่ทำให้โลหะแข็งขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบพยานเอกสารหลายฉบับว่า จำเลยที่ 2ประกอบกิจการตั้งโรงงานเพื่อผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยได้ติดต่อไปยังบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้และได้สั่งซื้อเครื่องจักรในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตจากบริษัทดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการผลิตและจำหน่ายข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแต่ผู้เดียว จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตทุกชนิดที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่ให้แก่จำเลยที่ 2 และจะต้องให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 ในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีต บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการผลิตและจำหน่ายข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีต ตามสัญญาระหว่างบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2538 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.10 จำเลยที่ 2 ได้ผลิตสินค้าข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงตามสัญญาดังกล่าว แต่ไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ได้แต่งตั้งทนายความให้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4745 แต่เพียงผู้เดียว และกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความรู้เรื่องสิทธิบัตร จึงหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้กระทำการที่ผิดกฎหมาย โดยได้สอบถามไปยังบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.10 ได้รับแจ้งว่าบริษัทดังกล่าวได้รับหนังสือจากทนายความโจทก์ที่ 2 แบบเดียวกัน ตามหนังสือของสำนักงานทนายความเตลิกี แอนด์ กิบบินส์ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2539 ต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 ถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้รับการยืนยันจากบริษัทริชมอนด์สกรู แองเคอร์ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ข้อต่อเหล็กเสริมแรงคอนกรีตว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิผลิตได้ตามสิทธิบัตรของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด เลขที่ 4,619,096 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2529 ตามสิทธิบัตรพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.16 และหากจำเลยที่ 2 ต้องการ บริษัทดังกล่าวจะส่งเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้สิทธิไปให้จำเลยที่ 2 ตามหนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.12 เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 ถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้ส่งเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้สิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.13 ต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้ส่งหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรูแองเคอร์ จำกัด ลงวันที่ 19 กันยายน 2539 ที่มีถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการยืนยันว่าบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ได้อนุญาตให้บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทดังกล่าวใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2541 ตามหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด เอกสารหมายล.14 และต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ถึงจำเลยที่ 2 ยืนยันอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ได้ ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตามเอกสารหมาย ล.16 เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการตีขึ้นรูปแล้วนำส่วนที่ขยายมาทำให้เกิดเกลียวตัวผู้และนำไปต่อเข้ากับข้อต่อตัวรับหรือเกลียวตัวเมีย หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการยืนยันอย่างชัดแจ้งจากบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์จำกัด ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในการผลิตสินค้าที่กำลังผลิตอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิได้ละเมิดสิทธิบัตรผู้ใดแล้วจำเลยที่ 2 ยังได้นำรายละเอียดต่าง ๆ ไปหารือกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะกรรมศาสตร์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยาที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และวิศวกรการขึ้นรูปโลหะ ซึ่งได้รับการยืนยันตรงกันว่า การขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการขึ้นรูปเป็นวิธีการที่ครอบคลุมถึงวิธีการขึ้นรูปแบบเย็น (Cold Forging หรือ Cold Unsetting หรือ Cold Heading) การขึ้นรูปแบบร้อน และการขึ้นรูปแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น และมีตำราที่ใช้สอนในสถาบันการศึกษายืนยันข้อมูลทางวิชาการดังกล่าว ตามหนังสือ “คู่มือวิศวกรเครื่องมือ”(Tool Engineers Handbook) โดยแฟรงค์ ดับเบิลยู วิลสัน (Frank W. Wilson) ปี 2492 เอกสารหมาย ล.17 และหนังสือชื่อ “คู่มืออุตสาหกรรมขึ้นรูปโลหะ” (Forging Industry Hanbook) โดย โจน อี. เจ็นสัน (Jon E. Jenson) ปี 2513 เอกสารหมาย ล.18 จำเลยทั้งสองได้ผลิตสินค้าข้อต่อเหล็กที่มีการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,196 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองดังกล่าวโดยละเอียดแล้วเห็นว่า สิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เฉพาะกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น กล่าวคือ ได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยการนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเส้นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกโดยมีลักษณะพิเศษคือ ก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าว ส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาเชื่อมต่อนั้นจะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช้ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น (Cold Forging) สิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยวิธีขึ้นรูปโดยใช้ความร้อน (Hot Forging) หรือวิธีขึ้นรูปแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น ส่วนสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด เป็นสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูปสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์นี้จึงครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงโดยมีการทำให้ปลายเหล็กเส้นเสริมแรงขยายใหญ่ขึ้นก่อนทำเกลียวด้วยกรรมวิธีการตีขึ้นรูปทุกกรรมวิธีไม่ว่าจะเป็นการตีขึ้นรูปแบบเย็น แบบร้อนหรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น ซึ่งในข้อนี้ปรากฏตามหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ถึงนายชอง มารี ปิตอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เอกสารหมายเลข 5 ท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ทั้งสองลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 ว่า สิทธิบัตรของบริษัทดังกล่าวครอบคลุมถึงการตีขึ้นรูปแท่งเหล็กทุกวิธี (The Richmond Patent covers all upsetting of the bar.) เจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองมีหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ลงวันที่ 19 กันยายน 2539 ที่มีถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัดประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096และอนุญาตช่วงให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบัตรดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.14 มาแสดงต่อศาลยืนยันว่า บริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ผู้ทรงสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ได้อนุญาตให้บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทดังกล่าวซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ประกอบบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2539 ถึงจำเลยที่ 2 ยืนยันอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตามที่บริษัทนั้นได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรดังกล่าวจากบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.15 ด้วย ซึ่งโจทก์ที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 ดังกล่าว เชื่อว่าช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยทั้งสองได้ผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรง สำหรับคอนกรีตตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ซึ่งสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงกรรมวิธีการผลิตข้อต่อนั้นด้วยการตีขึ้นรูปแท่งเหล็กทุกวิธีรวมทั้งการขึ้นรูปด้วยวิธีแบบเย็นตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ด้วยดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าการผลิตข้อต่อของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองใช้กรรมวิธีการผลิตโดยขึ้นรูปด้วยวิธีแบบเย็นเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ซึ่งแสดงว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 2 มาก่อนดังที่โจทก์ที่ 1 นำสืบ และนายชองผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายชองและนายชัยยงค์พยานโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตลาดและฝ่ายขาย ไม่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 มีโอกาสเข้าไปล่วงรู้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ได้อย่างไร ที่นายชองเบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วย จึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ การที่จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 และได้ติดต่อกับบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้และสั่งซื้อเครื่องจักรในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตจากบริษัทดังกล่าวกลับทำให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด หาได้ใช้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ และแม้จะปรากฏตามสัญญาระหว่างบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์จำกัด กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2538 เอกสารหมาย ล.10 ในข้อ 1 ว่า บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กท่อนเสริมแรงคอนกรีตใช้สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และข้อ 9 สัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับระยะแรกนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 โดยไม่ปรากฏข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในการผลิตข้อต่อเหล็กดังกล่าวในประเทศไทยก็ตามก็เป็นไปได้ว่าสัญญาดังกล่าวทำตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2538 ซึ่งในระยะแรกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ก่อนที่จะให้สิทธิผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 แก่จำเลยที่ 1 ในประเทศไทย บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้สิทธิในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น อย่างไรก็ดีในสัญญาเอกสารหมาย ล.10 ดังกล่าว ข้อ 6 ก็ระบุไว้ด้วยว่า บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด จะให้คมช่วยเหลือทางเทคนิคแก่จำเลยที่ 1 และจะแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมถึงวิวัฒนาการในด้านเทคนิคดังกล่าวทั้งหมดด้วย แสดงว่าบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการผลิตข้อต่อเหล็กนั้นแก่จำเลยที่ 1 ด้วยดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบซึ่งโจทก์ที่ 1 เองก็ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเริ่มกระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 การที่บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าวจากบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ยอมให้บริษัทจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทคล้ายกับชื่อบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัดและยอมให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้สิทธิบัตรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยอันเป็นการใช้สิทธิอย่างหนึ่งของผู้ทรงสิทธิบัตรได้นั้น ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อว่าบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้อนุญาตช่วงให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบัตรนั้นโดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวได้แต่ผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 จริงตามที่บริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด และบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ยืนยันตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ซึ่งครอบคลุมถึงกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ตามสิทธิที่ได้รับมาดังกล่าวแม้มีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (2) เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ตามคำฟ้อง คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง”

Share