แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้ยักยอกสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไป ต่อมาผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยโดยยอมรับบ้านจำเลยเป็นการตีใช้หนี้ค่าสร้อยคอทองคำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการตกลงยอมความทั้งในทางอาญาและทางแพ่งแล้ว เมื่อคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ 5 เส้น เป็นเงิน 25,000 บาทแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 5 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ 5 เส้น เป็นเงิน 25,000 บาทแก่ผู้เสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยได้ครอบครองสร้อยคอทองคำจำนวน 5 เส้น ราคา 25,000 บาท ของผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาสร้อยคอดังกล่าวนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเคยตกลงกันว่าจำเลยจะยกบ้านของจำเลยตีใช้หนี้ค่าสร้อยคอทองคำจำนวน 5 เส้น โดยให้ทนายความทำสัญญาให้ ในสัญญามีข้อความตามที่ตกลงกัน ภายหลังทำสัญญาแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากบ้านประกอบกับผู้เสียหายเห็นบ้านของจำเลยแล้ว จึงเปลี่ยนใจและฉีกสัญญาทิ้ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ผู้เสียหายยอมรับเอาบ้านจำเลยเป็นการตีใช้หนี้ และทำสัญญายอมความนั้น เป็นการยอมความที่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยโดยยอมรับเอาบ้านจำเลยเป็นการตีใช้หนี้ค่าสร้อยคอทองคำ จำนวน 5 เส้น ถือได้ว่าเป็นการตกลงยอมความทั้งในทางอาญาและทางแพ่งแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน