แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 41(4) แม้โจทก์จะได้รับเงินตามประกาศและกฎหมายดังกล่าวไปแล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเงินตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 41(1) อีก ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 71/2524 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2524 ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,760 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 7,560 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 4,950 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคดีก่อนกับคดีนี้มูลคดีอย่างเดียวกันคือโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้ใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลและศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วโจทก์กลับไปเรียกร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก เป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการบังคับตามสิทธิในมูลกรณีเดียวกันทั้งสองทางซ้ำซ้อนกัน และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยในคราวเดียวกันได้อยู่แล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ในคดีก่อน เป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เงินทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับเมื่อถูกจำเลยเลิกจ้างซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดให้จำเลยชดใช้ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)มิใช่เป็นการซ้ำซ้อนดังอุทธรณ์จำเลยจริงอยู่ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์แต่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 8 วรรคท้ายบัญญัติว่า “คดีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว” เมื่อการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมดังเช่นคดีนี้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติขั้นตอนและวิธีการให้ปฏิบัติโดยยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว จึงเป็นการอาศัยเหตุอันเป็นมูลฐานต่างกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ”
พิพากษายืน