แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาอยู่ในโฉนดที่ทำขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือมิชอบของโจทก์ หรือเจ้าพนักงานผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตามและแม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อมิใช่เป็นการได้มาโดยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 แล้ว จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ไม่ว่าในทางใด การออกโฉนดของจำเลยส่วนที่ทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการออกไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๘ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๗ จากจำเลยที่ ๑ เดิมที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๘ จังหวัดธนบุรี ซื่อมาเพื่อใช้ตัดถนนสายดาวคนอง – จอมทอง แต่มิได้ใช้เนื้อที่ดินทั้งแปลง เมื่อตัดถนนเสร็จแล้วยังมีที่ดินเหลืออีก ๑๓๘ ตารางวา ซึ่งจะต้องใช้ไว้เป็นที่จอดรถสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน และในกรณีจำเป็นจะใช้เป็นที่สาธารณะสายดาวคนอง – จอมทองต่อไป ที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งแปลงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ก่อนที่โจทก์จะนำที่ดินส่วนที่เหลือมาใช้ประโยชน์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัจนะกุลขนส่งโดยจำเลยที่ ๑ ได้ขอเช่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำนวน ๒๖ ตารางวา เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้รังวัดที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ แล้วเบียดบังเอาที่ดินบริเวณที่ได้เช่าและที่ดินต่อเนื่องของโจทก์ไปเป็นเนื้อที่ ๖๖ ตารางวา และเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์โดยมิชอบ เมื่อจำเลยที่ ๑ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของโจทก์ในส่วนที่จำเลยที่ ๑ เบียดบังไป ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ เป็นโมฆะและมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ครั้งดังกล่าวเสีย กับมีคำสั่งว่าการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ ระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ และขอให้เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี ดำเนินการรังวัดและกำหนดแนวเขตที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า บุตรจำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ ผู้ขายนำชี้เขตที่ดินและมีการรังวัดสอบเขตปักหลักใหม่แล้ว ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๘ ของโจทก์เป็นโฉนดเก่า ยังไม่มีการปักหลักใหม่ จึงต่างครอบครองกันตามสภาพที่ดินที่เจ้าของที่ดินเดิมชี้เขตตลอดมา ต่อมาบุตรจำเลยโอนขายที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ ให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงเข้าครอบครองสืบต่อมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นขอสอบเขตเพื่อแบ่งหักที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกตลอดแนวซึ่งได้ใช้เป็นทางกันมาช้านานแล้วนั้นออกเพื่อทราบจำนวนที่ดินที่เหลือเพื่อขายให้จำเลยที่ ๒ เจ้าพนักงานได้นัดไปทำการรังวัดในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ตามขอบเขตที่ทำการรังวัดได้เนื่อที่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา ลดลงจากเนื้อที่ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วดังกล่าวอีก ๒ ตารางวา จำเลยที่ ๑ จึงได้ไปจดทะเบียนแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ ๒ ตารางวา และเจ้าพนักงานได้แก้เนื้อที่ที่เหลือเป็น ๒ ไร่ ๑๔ ตารางวา แล้วจำเลยที่ ๑ ขายให้จำเลยที่ ๒ ไป จำเลยที่ ๑ เคยทำสัญญาเช่าที่ดินของจังหวัดธนบุรีเพื่อใช้ทำถนนแยกจากถนนดาวคนอง – จอมทอง เข้าที่ดินจำเลยที่ ๑ แต่ตอนนั้นถนนสายดาวคนอง – จอมทอง ยังมีแนวถนนไม่สมบูรณ์เรียบร้อย ต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงแนวถนนให้กว้างขึ้นตามสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แผนที่สังเขปตามเอกสารท้ายฟ้องจึงไม่ถูกต้องตามความจริง การที่โจทก์ขอรังวัดตรวจสอบที่ดินเป็นการยอมรับอยู่แล้วว่า โจทก์ไม่ทราบว่าเขตที่ดินของโจทก์อยู่แค่ไหน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้คัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ นำชี้แนวเขตซึ่งมีหลักเขตอยู่ในที่ดิน จำเลยที่ ๒ เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินตามแนวเขตที่จำเลยที่ ๑ นำชี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงรับซื้อและครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ ๒๘๔๗ กับที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๒ เข้าด้วยกันแล้วแบ่งแยกออกเป็น ๒๗ แปลง เจ้าพนักงานนัดออกไปทำการรังวัดและจำเลยที่ ๒ ได้นำชี้เขตรอบที่ดินตามหลักเขตที่มีอยู่ในที่ดินครบทุกหลัก แต่ผู้แทนโจทก์ไม่ลงนามรับรองเขต ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนและสียหาย เมื่อโจทก์ขอให้รังวัดตรวจสอบที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๘ อีกครั้ง ผู้แทนโจทก์ได้นำรังวัดรุกล้ำแนวเขตเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงคัดค้าน ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ เป็นไปตามขอบเขตตามแผนที่หลังโฉนดดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานทำการรังวัดสอบสวนเขตเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ และเขตที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๘ เป็นไปตามที่นำทำการรังวัดปักหลักเขตไว้เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓ ห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลยที่ ๒ อีกต่อไป และให้ถือว่าการนำรังวัดรวมโฉนดและแบ่งแยกที่จำเลยที่ ๒ นำรังวัดไว้ สำหรับด้านติดกับที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๘ ถูกต้องแล้ว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้การปฏิเสธฟ้องแย้งเสียทั้งสิ้น ขอถือเอาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ เป็นโมฆะ ให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ และพิพากษาว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๗ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นโมฆะ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จล.๑ เป็นของจำเลยที่ ๒ ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง คำขอของจำเลยที่ ๒ นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๒ ตามที่ปรากฏในแผนที่ในโฉนดที่ทำขึ้นใหม่รุกล้ำที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๒๘๔๘ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้ววินิจฉัยว่าข้อที่จำเลยกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นประการสำคัญคือ ข้อที่ว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีการรับรองแนวเขตถูกต้องและเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำแผนที่ตามโฉนดขึ้นโดยถูกต้องนั้น ในเมื่อที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว การที่จำเลยได้ที่ดินที่พิพาทมาอยู่ในโฉนดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำโดยชอบหรือมิชอบของโจทก์หรือเจ้าพนักงานผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตาม และแม้จะได้ครอบครองที่สาธารณประโยชน์หรือไม่อย่างไรเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อมิใช่เป็นการได้มาโดยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ แล้ว จำเลยก็หาได้กรรมสิทธิ์ในสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นแต่ประการใดไม่ ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิอย่างใด ๆ ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ไม่ว่าในทางใด การออกโฉนดของจำเลยส่วนที่ทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการออกไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น