แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งมีราคาสูงกว่า แลกเปลี่ยนกับที่ดินของผู้คัดค้านซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าและไม่ติดถนนให้แก่ผู้คัดค้าน ในระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 114.
ย่อยาว
คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2533 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยยังไม่พ้นภาวะดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531 จำเลยและนางสาวรุ้งระวี กับนางสาวระพีพรรณ ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 9571และโฉนดตราจองที่ 6739 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกัน โดยจำเลยยอมรับเอาส่วนของนางสาวรุ้งระวีและนางสาวระพีพรรณในที่ดินโฉนดตราจองที่ 6739 และจำเลยยอมยกส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 ให้แก่บุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นการกระทำลงก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีล้มละลายเป็นคดีนี้ จึงอยู่ในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และจำเลยได้โอนให้แก่บุคคลทั้งสองในขณะที่จำเลยถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ที่ดินโฉนดเลขที่9571 ที่จำเลยได้ยกให้แก่ผู้รับโอนทั้งสองนั้นมีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถว 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน 3 ห้อง คือ เลขที่217, 219, 221 ปลูกอยู่ ส่วนที่ดินโฉนดตราจองที่ 6739 ที่จำเลยรับมาเป็นที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างและไม่มีทางเข้าออก จำเลยย่อมทราบดีว่ามีราคาน้อยกว่า การกระทำของจำเลยเช่นนี้เป็นการยอมเสียเปรียบและมุ่งหมายให้ผู้รับโอนทั้งสองได้เปรียบอันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โดยผู้รับโอนทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าจำเลยมีฐานะทางการเงินไม่ดีเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นการรับโอนโดยมุ่งหมายให้ผู้รับโอนได้เปรียบเพื่อช่วยเหลือจำเลยในการปิดบังจำหน่ายทรัพย์สินให้เป็นของบุคคลอื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยผู้โอน กับนางสาวรุ้งระวี และนางสาวระพีพรรณ ผู้รับโอนและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้รับโอนทั้งสองใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา224,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอเพิกถอนนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านว่า การแลกเปลี่ยนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และเดิมต่างมีเจตนาที่จะโอนแลกเปลี่ยนกันมาตั้งแต่ปี 2520 โดยผู้คัดค้านทั้งสองกับจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดตราจองที่ 6739 พร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกัน สิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถว 4 ห้องเฉพาะห้องเลขที่ 215, 217 และ 219 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านทั้งสองส่วนห้องเลขที่ 221 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และต่อมาปี 2520ผู้คัดค้านทั้งสองตกลงที่จะแลกเปลี่ยนที่ดินที่ว่างเปล่าหลังห้องแถวดังกล่าวกับห้องแถวเลขที่ 221 พร้อมที่ดินที่ห้องแถวทั้ง 4 ห้องปลูกอยู่ แต่ในขณะนั้นผู้คัดค้านทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์นายจำนง บิดาของผู้คัดค้านทั้งสองจึงได้ยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมแทนและเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ทำนิติกรรมแทนได้แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแลกเปลี่ยนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามคำสั่งศาล นายจำนงถึงแก่ความตายไปก่อนและเนื่องจากได้มีการนำโฉนดตราจองดังกล่าวไปค้ำประกันจำเลยไว้แก่ทางเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จึงยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนแลกเปลี่ยนกัน แต่ก็ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่แลกเปลี่ยนกันแล้วโดยผู้คัดค้านทั้งสองได้ส่งมอบที่ดินที่ว่างเปล่าหลังห้องแถวเนื้อที่จำนวน 1 งาน 12 ตารางวา ให้แก่จำเลย และจำเลยได้ส่งมอบห้องแถวเลขที่ 221 พร้อมที่ดินที่ห้องแถวดังกล่าวปลูกอยู่เนื้อที่จำนวน 65 ตารางวาให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองมาแต่ปี 2520แล้วได้ครอบครองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9571ตำบลท่าเสา (ท่าอิฐ) อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างนางเสริมศรี คำมี จำเลยผู้โอน กับนางสาวรุ้งระวี ชัยมงคล และนางสาวระพีพรรณ ชัยมงคล ผู้รับโอนทั้งสอง และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้รับโอนทั้งสองใช้ราคาเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2533 โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2533 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยและผู้คัดค้านทั้งสองได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 และโฉนดตราจองที่ 6739 ตำบลท่าเสา(ท่าอิฐ) อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกัน โดยจำเลยยอมรับเอาโฉนดตราจองที่ 6739ซึ่งจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้คัดค้านทั้งสองและเป็นที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง กับไม่มีทางเข้าออก ส่วนจำเลยยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 ซึ่งจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้คัดค้านทั้งสองและมีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถว 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน3 ห้อง เลขที่ 217, 219 และ 221 ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 มีราคาแพงกว่าที่ดินโฉนดตราจองที่ 6739 มากและเป็นการโอนอยู่ในระหว่างสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า การโอนที่ดินครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่าผู้คัดค้านทั้งสองและจำเลยมีเจตนาจดทะเบียนแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2520 และได้ส่งมอบที่ดินซึ่งได้แลกเปลี่ยนกันแล้ว โดยผู้คัดค้านได้ส่งมอบที่ดินตามโฉนดตราจองที่ 6739 หลังตึกแถวจำนวนเนื้อที่ 1 งาน 12 ตารางวา ให้แก่จำเลย และจำเลยได้ส่งมอบตึกแถวเลขที่ 221 พร้อมที่ดินตั้งตึกแถวจำนวนเนื้อที่ 65 ตารางวาให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองตั้งแต่ปี 2520 แล้ว และผู้คัดค้านทั้งสองได้เข้าครอบครองจนถึงปัจจุบัน เหตุที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกันเพราะไม่สามารถนำเอาโฉนดที่ดินโฉนดเลขที่ 9571มาจากสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ที่จำเลยนำไปเป็นหลักประกันการเข้าทำงานของจำเลยไว้ ต่อมาจำเลยสามารถหาหลักทรัพย์ไปเป็นหลักประกันการทำงานแทนได้ จึงนำโฉนดเลขที่ 9571 คืนมาและทำการจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกัน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531อันเป็นการกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เห็นว่า การที่นายจำนง ชัยมงคล บิดาของผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น เพื่อทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนที่ดินกับจำเลยซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 ตามเอกสารหมาย ค.2 นั้นพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่า เป็นเพียงเจตนาแลกเปลี่ยนของบิดาผู้คัดค้านทั้งสองเท่านั้น เพราะตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นมาจนถึงปี 2522 ที่จำเลยได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 9571 ของตนไปวางเป็นหลักประกันในการเข้าทำงานดังกล่าวสถานธนานุบาลของโจทก์ นับว่ามีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกันให้เสร็จเรียบร้อยได้ แต่ก็หาได้ดำเนินการกันไม่ ที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า เหตุที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกัน เพราะจำเลยนำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปวางเป็นหลักประกันในการเข้าทำงาน จึงรับฟังไม่ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 9571 ของตนไปวางเป็นหลักประกันในการเข้าทำงานดังกล่าวประกอบกับผู้คัดค้านทั้งสองก็ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม2534 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่าในขณะนั้นจำเลยยังอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 221 ซึ่งเป็นตึกแถว และที่ดินพิพาท รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการส่งมอบตึกแถวและที่ดินดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนกันจริงกรณีจึงเป็นข้อยืนยันว่า จำเลยมิได้มีเจตนาแลกเปลี่ยนที่ดินกับผู้คัดค้านทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2520 ดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา ดังนั้น การที่จำเลยได้มอบอำนาจให้นายสด สารพล ไปทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองเมื่อวันที่13 กันยายน 2531 จึงเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 ในส่วนของจำเลย ซึ่งมีตึกแถวปลูกสร้างอยู่มีราคาแพงกว่าที่ดินโฉนดตราจองที่6739 ของผู้คัดค้านทั้งสองมาก และผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นแก่จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9571 ซึ่งเป็นส่วนของจำเลยซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองย่อมต้องทราบดีเพราะเป็นญาติสนิทกัน ถือได้ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.