คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยรับฟังพยานยังไม่ครบถ้วน ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
บริษัทโจทก์ไม่ได้วางระเบียบในการจัดเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยและการใช้รหัสตู้นิรภัย เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคารของบริษัทโจทก์แล้วก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้จัดการคนก่อน จำเลยไม่ได้สั่งงดใช้รหัสตู้นิรภัยภัตตาคารเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยและน. ทำงานเฉพาะเวลาทำงานปกติ หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี พนักงานที่ผลัดเปลี่ยนกันทำงานไม่มีวันหยุดคนหนึ่งเคยถูกคนร้ายชิงทรัพย์ แต่บังเอิญมิได้นำกุญแจตู้นิรภัยติดตัวไปด้วย จึงตกลงกันว่าไม่เอากุญแจตู้นิรภัยกลับบ้าน จำเลยสั่งให้เก็บกุญแจตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะของจำเลย นอกจากนี้พนักงานตรวจสอบของบริษัทโจทก์ซึ่งมาตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของภัตตาคารก็ไม่ได้ทักท้วงหรือสั่งให้แก้ไขวิธีการในการเก็บรักษาเงินของบริษัทโจทก์ ฉะนั้นการที่จำเลยเก็บกุญแจตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยโดยไม่ให้ผู้มีหน้าที่เปิดปิดตู้นิรภัยนำกุญแจตู้นิรภัยติดตัวกลับบ้าน จึงเป็นการใช้ความระมัดระวังตามที่วิญญูชนพึงกระทำแล้ว จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ค่าจ้างหมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน แม้จำเลยจะเป็นลูกจ้างรายเดือน แต่เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2524 ภายหลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2524 จำเลยถูกเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้จำเลยอีก
คู่มือพนักงานของบริษัทโจทก์มีความว่าบริษัทโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานในเดือนธันวาคมของทุกปี แสดงว่าโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินดังกล่าวให้เฉพาะพนักงานที่มีตัวทำงานอยู่ในเดือนธันวาคมเท่านั้น จำเลยถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2524 จึงไม่มีสิทธิรับเงินโบนัสหรือเงินรางวัล และเมื่อตามคู่มือพนักงานของบริษัทโจทก์มีข้อความว่า บริษัทจะรับภาระเสียภาษีเงินได้ทั้งหมดที่พนักงานได้รับจากบริษัท โดยบริษัทจะแจ้งยอดเงินการเสียภาษีให้พนักงานได้ทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ข้อความตอนท้ายที่ว่าบริษัทจะแจ้งยอดการเสียภาษีให้พนักงานทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปแสดงอยู่ในตัวว่า เงินได้ทั้งหมดที่โจทก์รับภาระจะเสียภาษีให้จำเลยนั้นต้องเป็นยอดรายได้ที่จำเลยได้รับจากโจทก์ทั้งหมดในแต่ละปีเฉพาะในปีที่โจทก์เลิกจ้างจำเลย จำเลยมีสิทธิได้รับเงินจากโจทก์คือค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานในวันหยุดโจทก์จึงต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย แต่ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นผลของการเลิกจ้างไม่ใช่รายได้ที่จำเลยได้รับในแต่ละปี โจทก์จึงไม่ต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินทั้งสามจำนวน
ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการภัตตาคาร ย่อมมีหน้าที่ปกปักษ์รักษาทรัพย์ของนายจ้าง หากทางปฏิบัติของผู้จัดการคนก่อน ๆ มาไม่รัดกุมพอมีช่องทางที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ แม้ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นจำเลยก็มีอำนาจที่จะวางระเบียบในการเก็บรักษาเงินของนายจ้างให้รัดกุม การที่จำเลยเพียงแต่ปฏิบัติตามผู้จัดการคนก่อน ๆไปโดยไม่ปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนให้มีประสิทธิภาพจนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างจำเลยได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์คดีแรกฟ้องว่า จำเลยในขณะเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคาร มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบกิจการในหน้าที่และทรัพย์สินของโจทก์ให้ปลอดภัย จำเลยกระทำโดยประมาทสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ปิดเปิดตู้นิรภัยให้เก็บกุญแจสำหรับไขปิดเปิดตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยอันเป็นที่ไม่ปลอดภัย และจำเลยยังได้สั่งให้งดใช้รหัสตู้นิรภัยด้วยเป็นเหตุให้คนร้ายซึ่งรู้ที่เก็บกุญแจงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลย นำลูกกุญแจไขเปิดตู้นิรภัยซึ่งไม่ได้ใช้รหัสปิดล็อกไว้ลักเอาเงินสดของโจทก์ไป ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยคดีแรกให้การว่า ห้องทำงานของจำเลยมีสภาพมั่นคงแข็งแรงนอกตัวอาคารมียามรักษาการณ์ ผู้จัดการคนก่อนของภัตตาคารจึงสั่งให้เก็บกุญแจตู้นิรภัยในห้องทำงานของจำเลย จำเลยไม่มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน การเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยในลิ้นชักโต๊ะทำงานได้ปฏิบัติมาก่อนที่จำเลยจะเข้าทำงานกับโจทก์ ตู้นิรภัยของโจทก์ไม่เคยมีการใช้รหัสในการล็อกก่อนจำเลยจะทำงานกับโจทก์มาเป็นเวลา 16 ปี เนื่องจากการมีสก๊อตเทปปิดที่หมุนรหัส โจทก์ไม่เคยวางระเบียบในการล็อกตู้นิรภัย จำเลยเพิ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคารก่อนเกิดเหตุไม่เกิน 5 เดือน

จำเลยในคดีแรกซึ่งเป็นโจทก์ในคดีที่สองฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคารของจำเลย เวลากลางคืนในวันหยุดทำงานของโจทก์มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในภัตตาคารของจำเลย และจำเลยอ้างว่าคนร้ายลักเอาเงินสดจากตู้นิรภัยของจำเลยในภัตตาคารดังกล่าว จำเลยกล่าวหาว่าการที่คนร้ายสามารถขโมยเงินไปได้เพราะการละเมิดของโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้เงิน มิฉะนั้นจะเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่ยอมใช้เงิน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ในคดีแรกซึ่งจำเลยในคดีที่สองให้การว่า โจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย โดยกระทำประมาทเลินเล่อในหน้าที่อย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยศูนย์ทรัพย์สิน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและตามกฎหมายโดยไม่ต้องจ่ายเงินใดแก่โจทก์ หรือรับโจทก์กลับเข้าทำงาน

ศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์คดีแรกว่าโจทก์และโจทก์คดีหลังว่าจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแต่จำเลยมีสิทธิรับเงินบางประเภทจากโจทก์ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จ พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย รับฟังพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน นั้น เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ไม่รับวินิจฉัย

ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทโจทก์ไม่ได้วางระเบียบในการจัดเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย การใช้รหัสตู้นิรภัย เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคารแล้วก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้จัดการคนก่อน และจำเลยไม่ได้สั่งงดใช้รหัสตู้นิรภัย ภัตตาคารของโจทก์เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง พนักงานที่ผลัดเปลี่ยนกันเปิดปิดตู้นิรภัยโดยไม่มีวันหยุดมีอยู่ 3 คน จำเลยทำงานเฉพาะเวลาทำงานปกติหยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี พนักงานผู้หนึ่งเคยถูกคนร้ายชิงทรัพย์ แต่บังเอิญมิได้นำกุญแจติดตัวไปด้วย จึงตกลงกันไม่นำกุญแจตู้นิรภัยกลับบ้าน นอกจากนี้พนักงานตรวจสอบของโจทก์ซึ่งมาตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของภัตตาคารก็ไม่ได้ทักท้วง หรือสั่งให้แก้ไขวิธีการในการเก็บรักษาเงินของโจทก์ จำเลยจึงได้เก็บกุญแจตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน เป็นการใช้ความระมัดระวังตามที่วิญญูชนพึงกระทำแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างรายเดือน โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนตุลาคม 2524 ให้จำเลยเต็มเดือนนั้น วินิจฉัยว่า ค่าจ้างหมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานเมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2524 ดังนั้นภายหลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2524 จำเลยถูกเลิกจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้จำเลยอีก

ข้อบังคับของบริษัทโจทก์มีข้อความว่า บริษัทโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานในเดือนธันวาคมของทุกปี แสดงว่าโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินดังกล่าวให้เฉพาะแต่พนักงานที่มีตัวทำงานอยู่ในเดือนธันวาคมเท่านั้น จำเลยถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2524 ก่อนเดือนธันวาคม จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือเงินรางวัล

สำหรับปัญหาว่าโจทก์ต้องออกภาษีสำหรับรายได้ทั้งหมดของจำเลยหรือไม่นั้น ปรากฏว่าข้อบังคับของบริษัทโจทก์ระบุว่า บริษัทจะรับภาระเสียภาษีเงินได้ทั้งหมดที่พนักงานได้รับจากบริษัท โดยบริษัทจะแจ้งยอดเงินเสียภาษีให้พนักงานทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ข้อความตอนท้ายที่ว่าบริษัทจะแจ้งยอดการเสียภาษีให้พนักงานทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปนั้น แสดงอยู่ในตัวว่าเงินได้ทั้งหมดที่โจทก์รับภาระจะเสียภาษีให้จำเลยนั้น ต้องเป็นยอดรายได้ที่จำเลยได้รับจากโจทก์ทั้งหมดในแต่ละปีเฉพาะในปีที่โจทก์เลิกจ้างจำเลย จำเลยมีสิทธิได้รับเงินจากโจทก์คือค่าจ้างค้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด โจทก์จึงต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย แต่ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นผลของการเลิกจ้างไม่ใช่รายได้ที่จำเลยได้รับในแต่ละปี โจทก์จึงไม่ต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินทั้งสามจำนวนนี้

จำเลยในฐานะผู้จัดการภัตตาคาร ย่อมมีหน้าที่ต้องปกปักษ์รักษาทรัพย์ของนายจ้าง หากทางปฏิบัติของผู้จัดการคนก่อน ๆ มาไม่รัดกุมพอ มีช่องทางที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ แม้ความเสียหายจริง ๆ ยังไม่เกิด ก็อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะวางระเบียบในการเก็บรักษาเงินของนายจ้างให้รัดกุม การที่จำเลยเพียงแต่ปฏิบัติตามผู้จัดการคนก่อน ๆ ไปโดยไม่ปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนให้มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างจำเลยได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

พิพากษาแก้ ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย พร้อมดอกเบี้ย ให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้ในค่าจ้างค้างจ่าย และค่าทำงานในวันหยุดแทนจำเลย

Share