แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีการระบุพยานเพิ่มเติมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารให้ก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพิ่งจะยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมวันที่ 19 มกราคม 2530 ซึ่งได้มีการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองในวันเดียวกันและได้นำสืบพยานเอกสารดังกล่าวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อถึง 14 วันมิใช่เป็นกรณีเอาเปรียบจำเลยทั้งสองการที่ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เดินทางไปยังเมืองฮ่องกงเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าก็ไปพบกุญแจตรา GOLDDOOR ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าสวยดีและเป็นที่ประทับใจจึงนำตราดังกล่าวมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับกุญแจของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR ขึ้นเองแต่ไปนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาจดทะเบียน โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR และอักษรจีนอ่านว่ากิมหมึ่งไป๊ กับเส้นลายประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน GD และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลยทั้งสองโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้น จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีขนาดเท่ากันมีเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรโรมัน อักษรจีน ตัวเลข และสีสันเช่นเดียวกัน การวางตำแหน่งของตัวอักษร ตัวเลข เครื่องหมาย และรูปอักษรประดิษฐ์อยู่ในตำแหน่งเดียวกันทุกอย่าง คงแตกต่างกันเพียงว่าที่กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์มีข้อความว่า MADEINCHINAซึ่งพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำอยู่บนพื้นสีแดงด้วย ส่วนกล่องบรรจุสินค้าของจำเลยทั้งสองไม่มีข้อความดังกล่าวซึ่งข้อความดังกล่าวพิมพ์ด้วยตัวอักษรเล็กมาก หากไม่พิจารณาโดยพินิจพิเคราะห์อย่างแท้จริงจะไม่มีทางทราบว่ากล่องใดเป็นสินค้าของโจทก์ กล่องใดเป็นสินค้าของจำเลยทั้งสอง โจทก์ส่งสินค้ากุญแจของโจทก์มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จำเลยทั้งสองเพิ่งผลิตสินค้ากุญแจของจำเลยทั้งสองออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1ได้ไปพบเห็นสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่าGOLDDOOR ที่เมืองฮ่องกง แล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจดทะเบียนในประเทศไทย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะลวงให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้น้อยลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะนำสืบไม่พอให้ฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงจำนวนที่อ้างในคำฟ้อง ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า GOLDDOOR กับเครื่องหมายอักษรจีนอ่านเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า กิมหมึ่งไป๊ แปลว่า ตราประตูทอง และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าลายเส้นประดิษฐ์เป็นอักษรโรมัน GD อ่านว่าจีดี โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ พ.ศ. 2524 โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าประเภทกุญแจทุกชนิดของโจทก์เผยแพร่ไปทั่วโลกและในประเทศไทยมานานจนสาธารณชนทราบดีว่าเป็นสินค้าของโจทก์ซึ่งมีคุณภาพดี ต่อมา พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR และเครื่องหมายอักษรจีนอ่านเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า กิมหมึ่งไป๊ ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามทะเบียนที่ 85199 โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจำหน่ายสินค้ากุญแจลอกเลียนรูปแบบกุญแจของโจทก์แต่คุณภาพต่ำกว่า โดยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนดังกล่าวและใช้ลายเส้นประดิษฐ์เป็นอักษรโรมันGD ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนแสดงบนหีบห่อบรรจุสินค้าที่มีการลอกเลียนรูปกับสีหีบห่อบรรจุสินค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตและด้วยเจตนาลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากุญแจเดือนละ 100,000 บาทก่อนฟ้อง 1 ปี เป็นเงิน 1,200,000 บาท และนับจากวันฟ้องเดือนละ100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กับค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิทางการค้าในเหตุที่จำเลยทั้งสองลวงขายสินค้าคุณภาพต่ำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์อีกเดือนละ50,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะหยุดการละเมิด ให้จำเลยที่ 1ไปจดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR และเครื่องหมายอักษรจีนอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า กิมหมึ่งไป๊ ตามทะเบียนที่ 85099 หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฎิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองหยุดใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าและไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องเนื่องจากใน พ.ศ. 2524ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าถูกต้องตามกฎหมายและผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายโดยสุจริต จำเลยทั้งสองโฆษณาเผยแพร่สินค้าจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและไม่เคยกล่าวอ้างหรือลวงขายว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ โจทก์มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งสองตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์เสียหายอย่างมากไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า โกลดอร์และกิมหมึ่งไป๊ (ที่ถูกเป็น GOLDDOOR และเครื่องหมายอักษรจีนอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า กิมหมึ่งไป๊) ตามคำขอเลขที่ 129625ทะเบียนเลขที่ 85199 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์อีกต่อไป คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 180,000 บาท และในอัตราเดือนละ 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะหยุดใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาในประการแรกว่าเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลและหนังสือรับรองการเปลี่ยนที่อยู่ของโจทก์โจทก์เพิ่งยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว และมิได้ดำเนินการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย 3 วัน เป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งสอง จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ได้ เห็นว่า ปรากฎว่ากรณีเป็นการระบุพยานเพิ่มเติม ซึ่งไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารให้ก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา90 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั้น อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ปรากฎว่าโจทก์เพิ่งจะยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่19 มกราคม 2530 ซึ่งได้มีการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองในวันเดียวกัน และได้นำสืบพยานเอกสารดังกล่าวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์2530 ซึ่งเป็นการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อถึง 14 วัน มิใช่เป็นกรณีเอาเปรียบดังจำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง การที่ศาลรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเส้นลายประดิษฐ์ตามฟ้องและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งสองหรือไม่ ปรากฎว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า GOLDDOOR และอักษรจีนอ่านว่ากึ่มหมึ่งไป๊ ใช้กับสินค้าชนิดที่ 21 คือ กุญแจต่อกรมควบคุมแรงงานและอุตสาหกรรม ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่30 สิงหาคม 2524 โจทก์ผลิตและโฆษณาสินค้ากุญแจของโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับเส้นลายประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน GDทั้งในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอื่นตั้งแต่ พ.ศ.2524 เรื่อยมา บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายกุญแจของโจทก์และโฆษณาสินค้าในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2524 โจทก์ส่งสินค้ากุญแจของโจทก์ไปขายยังต่างประเทศในปีเดียวกันโดยส่งไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย เกาะเปอร์โตริโกและประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1 เดินทางไปยังเมืองฮ่องกง เพื่อติดต่อธุรกิจการค้าก็ไปพบกุญแจตรา GOLDDOORซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าสวยดีและเป็นที่ประทับใจจึงนำตราดังกล่าวมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับกุญแจของจำเลยที่ 1 ที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2526 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR ขึ้นเอง แต่ไปนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาจดทะเบียน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR และอักษรจีนอ่านว่า กิมหมึ่งไป๊ กับเส้นลายประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน GD และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลยทั้งสองโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้นจึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1)ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาท
จำเลยทั้งสองฎีกาในประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่ถึงเดือนละ 5,000 บาท โจทก์มิได้นำสืบถึงค่าเสียหายโดยชัดแจ้ง คงกล่าวอ้างลอย ๆ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายขึ้นเอง จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง เห็นว่าเมื่อพิจารณาวัตถุพยานหมาย จ.1 และ จ.2ซึ่งเป็นสินค้าของโจทก์ และวัตถุพยานหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งเป็นสินค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่ากล่องบรรจุสินค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีขนาดเท่ากันมีเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมัน อักษรจีน ตัวเลข และสีสันเช่นเดียวกันการวางตำแหน่งของตัวอักษร ตัวเลข เครื่องหมาย และรูปอักษรประดิษฐ์อยู่ในตำแหน่งเดียวกันทุกอย่าง คงแตกต่างกันเพียงว่าที่กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์มีข้อความว่า MADE IN CHINA ซึ่งพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำอยู่บนพื้นสีแดงด้วยส่วนกล่องบรรจุสินค้าของจำเลยทั้งสองไม่มีข้อความดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวพิมพ์ด้วยตัวอักษรเล็กมากหากไม่พิจารณาโดยพินิจพิเคราะห์อย่างแท้จริงจะไม่มีทางทราบว่ากล่องใดเป็นสินค้าของโจทก์ กล่องใดเป็นสินค้าของจำเลยทั้งสองประกอบกับโจทก์ส่งสินค้ากุญแจของโจทก์มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2524 จำเลยทั้งสองเพิ่งผลิตสินค้ากุญแจของจำเลยทั้งสองออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2526 เมื่อ พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1 ได้ไปพบเห็นสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOR ที่เมืองฮ่องกง แล้ว จำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ในประเทศไทย ตามพฤติการณ์เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะลวงให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้น้อยลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะนำสืบไม่พอให้ฟังว่า โจทก์ได้รับความเสียหายถึงจำนวนที่อ้างในคำฟ้องศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และเห็นว่าการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองมากอยู่แล้วฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน