แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิด คงมีแต่คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของ ป. พี่ชายจำเลยว่า หลังเกิดเหตุ 2 วัน จำเลยบอก ป. ว่า จำเลยฆ่าผู้ตายและได้เก็บทรัพย์ที่ชิงไปจากผู้ตายไว้ที่บ้าน ลำพังคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจะนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ของนายปรุง แก้วเสน ไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนางปรุงจนถึงแก่ความตายเพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๖)(๗) , ๓๓๙ วรรคท้าย, ๓๔๐ ตรี ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ อันเป็นกฎหมายบทหนัก ลงโทษประหารชีวิต จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘, ๕๒ (๑) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา นายปรุง แก้วเสน ผู้ตายออกจากบ้านตำบลเขาปูน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ไปตัดยางที่สวนทางทิศตะวันตกห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร และถูกคนร้ายฆ่าตาย คนร้ายได้เอาเงินสด สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ ราคารวม ๔๑,๕๐๐ บาท จากตัวผู้ตายไปด้วยคดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิด แม้จะได้ความจากร้อยตำรวจตรีสมศักดิ์และนายปัญญา บุญคาร พี่ชายจำเลยว่า หลังเกิดเหตุ ๒ วัน จำเลยบอกนายปัญญาว่า จำเลยฆ่าผู้ตายและได้เก็บทองคำไว้ที่บ้าน ชั้นสอบสวนร้อยตำรวจตรีสมศักดิ์ได้บันทึกคำให้การของนายปัญญาไว้ตามเอกสารหมาย จ.๒ ลำพังคำเบิกความของนายปัญญาและบันทึกคำให้การนายปัญญาในชั้นสอบสวนดังกล่าว จะนำมารับฟังเพื่อลดโทษจำเลยไม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์