แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าหนี้กล่าวหาว่าลูกหนี้ผิดสัญญาจะซื้อขายและได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังลูกหนี้ ลูกหนี้มิได้โต้แย้งแต่ประการใด จึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเจ้าหนี้จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 ลูกหนี้ต้องคืนเงินที่ได้รับชำระไว้จากเจ้าหนี้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ลูกหนี้รับไว้ แม้ลูกหนี้จะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา และเจ้าหนี้ได้ติดต่อกับลูกหนี้และทำบันทึกข้อตกลงกันอย่างไร ก็เป็นเอกสารที่ได้กระทำขึ้นภายหลังที่สัญญาเลิกกันแล้ว จึงไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้แต่ประการใด เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 และตั้งบริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 630,701 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 470,000บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่าเจ้าหนี้บอกเลิกสัญญาไม่ชอบจึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี คงเรียกได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีอย่างไรก็ตามเจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้องและไม่อาจเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบ จึงมีสิทธิขอคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 31 สิงหาคม 2537 จำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 21 สิงหาคม 2537 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2537 จำนวน 24,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 ธันวาคม 2537 จำนวน 24,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 6 มกราคม 2538 จำนวน 24,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 จำนวน24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 มีนาคม 2538จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 5 เมษายน2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 6พฤษภาคม 2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 6 มิถุนายน 2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับจากวันที่ 29 กรกฎาคม 2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2538 จำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 ตุลาคม 2538 จำนวน 48,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 8 ธันวาคม 2538 และจำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จ
ผู้ทำแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่21 กันยายน 2537 เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงย่อยโครงการบางใหญ่กรีนแลนด์ แปลงที่ ดี 15 เนื้อที่ 90 ตารางวา ราคาตารางวาละ 25,000 บาท รวมเป็นเงิน2,250,000 บาท จากลูกหนี้ เจ้าหนี้ได้ชำระเงินล่วงหน้าในวันทำสัญญาจำนวน110,000 บาท และผ่อนชำระเงินล่วงหน้าที่เหลืออีก 360,000 บาท เป็นรายเดือน ทุกวันที่ 21 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2538 ส่วนที่เหลือจำนวน 1,780,000 บาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากทำสัญญาแล้วเจ้าหนี้ได้ชำระเงินล่วงหน้าให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ต่อมาวันที่5 พฤศจิกายน 2540 เจ้าหนี้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังลูกหนี้ ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม2541 ลูกหนี้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ แต่เจ้าหนี้เพิกเฉย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ทำแผนว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ ผู้ทำแผนอุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้นั้น เห็นว่า การที่เจ้าหนี้ได้ชำระเงินล่วงหน้าให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2540 คงเหลือเงินงวดสุดท้ายจำนวน1,780,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ทั้งนี้เมื่อลูกหนี้ได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อย คดีไม่ปรากฏว่าลูกหนี้แบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเมื่อใด แต่เจ้าหนี้กล่าวหาว่าลูกหนี้ผิดสัญญาโดยยอมให้มีการปลูกสร้างอาคารสูงเกิน 3 ชั้น ในโครงการนี้อันเป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 7 เจ้าหนี้จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายตามหนังสือฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 และ 8กุมภาพันธ์ 2541 ไปยังลูกหนี้ แล้วลูกหนี้มิได้โต้แย้งแต่ประการใด จึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เจ้าหนี้จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ลูกหนี้จึงต้องคืนเงินที่ได้รับชำระไว้จากเจ้าหนี้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ลูกหนี้รับไว้ที่ผู้ทำแผนอุทธรณ์ว่า เมื่อลูกหนี้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้เจ้าหนี้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เจ้าหนี้ได้ติดต่อกับลูกหนี้และทำบันทึกว่าประสงค์จะชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อไปตามเอกสารหมาย ต.3 แสดงว่าเจ้าหนี้มิได้มีเจตนาเลิกสัญญานั้น เห็นว่า แม้เอกสารหมาย ต.3 จะมีข้อความว่า”ข้าพเจ้านางพรพรรณ กมลจิตร์ประภา มีความต้องการจะใส่ชื่อในสัญญาโฉนดที่ดินเปล่าโครงการบางใหญ่กรีนแลนด์ แปลง ดี 15 เป็น 2 คน โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกัน และมีความรับผิดชอบที่จะต้องชำระเงินร่วมกัน ดังนี้ คือ 1. นางชุลีกร กมลจิตร์ประภา2 พ.อ. อเนก เหรียญตระกูล ส่วนยอดโอนกรรมสิทธิ์ข้าพเจ้ายังไม่พร้อมที่จะรับโอนเนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการ จึงขอให้บริษัททำการเลื่อนเวลาออกไป” แต่เอกสารดังกล่าวได้กระทำขึ้นภายหลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้ว จึงไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้แต่ประการใด ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ทำแผนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน