แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน130,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 184,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาเช่าซื้อเลิกกันและโจทก์รับมอบรถยนต์คืนแล้ว รวมทั้งโจทก์ได้ริบเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามสัญญาเช่าซื้ออีกนอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเงินที่ได้จากการขายรถยนต์คุ้มกับราคารถยนต์แล้วจึงไม่ได้รับความเสียหาย หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยที่ 1 ถูกข่มขู่จากพนักงานของโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 จ – 9748 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 279,288 บาท ตกลงชำระเป็นงวด งวดเดือน เดือนละ 7,758 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 12 มกราคม 2538 งวดต่อไปภายในวันที่ 12 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 4 งวด เป็นเงินจำนวน 31,032 บาท และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 โจทก์เลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2539 โดยเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์เป็นเงิน 4,000 บาท จากนั้นนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้ราคา 144,860 บาท (ที่ถูก 144,859.81 บาท) ยังขาดราคาอยู่เป็นเงิน 103,396 บาท ตามใบรับมอบและแจ้งสภาพสินค้าและใบเสร็จรับเงิน โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามหนังสือเรื่องให้ชำระค่าเสียหายและใบไปรษณีย์ตอบรับ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์โดยตกลงชำระค่าเสียหายจำนวน 184,976 บาท ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จะชำระเงินจำนวน 5,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยจะชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 130,000 บาท โจทก์ไม่เรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดยอมรับผิดตามจำนวนเงิน 184,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์พียง 10,000 บาท และผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดวันที่ 5 กันยายน 2539 เป็นต้นมา คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าว เป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงตกลงชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 184,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จะชำระเงินจำนวน 5,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยจะชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบและโจทก์ตกลงตามบันทึกข้อ 4 ว่า หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 130,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้ในสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่ได้ตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ