คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัท อ. ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ที่จะต้องให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย
เมื่อบริษัท อ. ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และบริษัท อ. เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัท อ. จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจนจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ
เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ตามเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัท อ. รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินโจทก์จึงต้องคืนเงินจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 728,253.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 57,659.82 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ติดตามรถยนต์กลับคืนมาได้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์คืนเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 (ที่ถูก ยกฟ้องโจทก์) ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 จองซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น อี 230 หมายเลขตัวถัง 210037-2 เอ-135435 กับบริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด โดยนำรถยนต์เก่าของจำเลยที่ 1 ไปตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท ค่าจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ 6,400 บาท ค่าประกันรถยนต์ 101,751 บาท ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ 2,520 บาท และค่ามัดจำป้ายแดง 3,500 บาท ตามใบรับเงินชั่วคราว ต่อมาบริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด ได้ตกลงขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และนำเอาราคารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ตีราคา 630,000 บาท และเงินสดจำนวน 110,000 บาท ที่ชำระในวันจองรวมเป็นเงินจำนวน 740,000 บาท มาเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อตามใบเสร็จรับเงิน หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว บริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด มิได้ดำเนินการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์จึงมิได้ดำเนินการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 4 งวด เป็นเงิน 230,639.28 บาท แล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 กันยายน 2540 เป็นต้นมา วันที่ 20 ตุลาคม 2541 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับ ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2541โจทก์ได้ฟ้องบริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด ให้จดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อรวมทั้งรถยนต์คันอื่น ๆ ให้แก่โจทก์และได้ยอมความกัน ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ และสำเนารายงานกระบวนพิจารณา โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2543 และเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 โจทก์ได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันโดยปริยาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อและต้องคืนเงินดาวน์กับค่าเช่าซื้อ 4 งวด ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้หรือไม่ เห็นว่า แม้เดิมจำเลยที่ 1 จองซื้อรถยนต์กับบริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ โดยนำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมเป็นเงินจองหรือเงินดาวน์ 740,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ชำระเงินค่าจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าประกันภัยรถยนต์ แต่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะซื้อด้วยวิธีเช่าซื้อ บริษัทดังกล่าวจึงให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ โดยขายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จองให้โจทก์ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์จึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัทดังกล่าว ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ โจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” ดังนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ที่จะต้องให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย เมื่อบริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ท่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และบริษัทดังกล่าว เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจนจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาตรวจสภาพเพื่อจดทะเบียนตามที่โจทก์ได้ฟ้องและตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทดังกล่าวนั้น ก็ฟังไม่ได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัทเอ็มซีซี คาร์ พลาซ่า จำกัด รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงิน โจทก์จึงต้องคืนเงินจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ได้ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เพราะเหตุสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์แล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อและเงินดาวน์ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาได้ คงเรียกได้เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตามมาตรา 391 วรรคสามเท่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์เรียกค่าขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่า นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ติดตามรถยนต์กลับคืนได้ ศาลฎีกาเห็นว่าค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวก็คือค่าใช้ทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั่นเอง รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์เป็นรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น อี 230 ราคาเช่าซื้อเป็นเงินถึง 2,767,671.36 บาท น่าเชื่อว่าเป็นรถใหม่เพราะยังไม่มีการจดทะเบียนรถ จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองใช้รถคันดังกล่าวเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ นับแต่เริ่มทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อเทียบกับจำนวนเงินดาวน์ และเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว กับเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อรวมเป็นเงินประมาณ 980,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว เห็นสมควรให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เป็นฝ่ายต้องคืนเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลสำหรับฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share