คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้นเป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้ขออายัดตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนในคดีอื่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 แล้ว และในวันเดียวกันผู้ร้องยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วยดังนี้ กรณีหาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออายัดตัวผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้จับผู้ต้องหาแล้ว หรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่นั้น แม้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น และพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในภายหลัง โดยผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไปในคดีนี้ ก็คงมีผลแต่เพียงทำให้ผู้ร้องมิต้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 8 เท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ต้อง ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาให้ทันภายใน กำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ ดังกล่าว และถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้องก็จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลต่อไป เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา สี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับศาลจึงไม่อาจ รับ คำร้อง ของ ผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ ชอบที่ศาลจะสั่ง ยกคำร้องขอผัดฟ้องของผู้ร้องเสีย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540อ้างว่า ผู้ต้องหาหลอกลวงบริษัทเอแอคทีฟ ซัพพลายส์ จำกัดผู้เสียหายว่ารู้จักนายทุนชาวต่างประเทศสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ 30,000,000 บาท แต่ผู้เสียหายต้องเสียค่าใช้จ่าย 88,000 บาทผู้เสียหายหลงเชื่อต้องการกู้เงินจึงจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้ต้องหาไป และรอการอนุมัติกู้เงินตามที่ผู้ต้องหาผัดต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ผู้เสียหายทราบว่ามีผู้ขอกู้เงินรายอื่นมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต่อมาเมื่อวันที่21 มิถุนายน 2540 ผู้ต้องหาถูกจับในคดีอื่น ผู้ร้องจึงขออายัดตัวเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีนี้โดยได้สอบคำให้การ แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบแล้วในวันเดียวกันนั้นต่อมาผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดีอื่นและพนักงานสอบสวนในคดีอื่นได้ส่งตัวผู้ต้องหามาให้ผู้ร้องควบคุมตัวในคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 เวลา 16.20 นาฬิกา โดยได้รับการปล่อยชั่วคราวและยังไม่สามารถฟ้องได้ จึงขออนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปมีกำหนด 6 วัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหาถูกจับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2540 การที่พนักงานสอบสวนยื่นขอผัดฟ้องวันนี้ (28 มิถุนายน 2540) เป็นการขอผัดฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่านอกจากผู้ร้องจะได้ขออายัดตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนในคดีอื่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540แล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาตามบันทึกการแจ้งข้อหา บันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วยแล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 หาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออายัดตัวผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้จับผู้ต้องหาแล้วหรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2540 แม้จะได้ความว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่นและพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 โดยได้รับการปล่อยชั่วคราวไปในคดีนี้ก็คงมีผลแต่เพียงทำให้ผู้ร้องมิต้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 8 เท่านั้น ผู้ร้องยังจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับดังกล่าว และถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้องก็จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลต่อไป เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไปได้
พิพากษายืน

Share