แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นกัปตันเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ ขณะเรือกำลังแล่นอยู่ในน่านน้ำผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นลูกเรือไม่พอใจจำเลยที่ห้ามมิให้ซื้อสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยวิธีหลบหนีภาษี จึงช่วยกันยุแหย่ให้พวกช่างกลและเดินเรือหยุดงานกว่า 20 คน และตั้งวงเสพสุรากัน จำเลยขอร้องให้กลับเข้าทำงานก็ไม่เป็นผล มีผู้เตือนจำเลยว่าจะมีคนทำร้าย จำเลยถือปืนลงไปชั้นล่างสวนทางกับผู้ตายและพวกอีก 3 – 4 คน ผู้ตายจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ได้ความว่าแผนกช่างกลและเดินเรือมีลูกเรือแผนกละประมาณ 20 คน วันเกิดเหตุลูกเรือยอมทำงานประมาณ 15 คน และทำงานไปโดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ขณะเกิดเหตุเรือยังแล่นเดินทางมาอย่างปกติ ฉะนั้น ภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจะเกิดแก่เรือถึงขึ้นอับปางจึงยังไม่มี การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายจึงไม่ใช่การป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่เรือถึงขึ้นอับปางเพราะผู้ตายกับพวกละทิ้งหน้าที่ แต่การที่ผู้ตายกับพวกขึ้นไปพบจำเลย ผู้ตายแสดงกริยาจะเข้าทำร้ายจำเลยและร้องตะโกนให้พรรคพวกนำอาวุธไปให้ ทั้งปรากฏว่ามีพวกของจำเลยคนหนึ่งถือมีดดาบยืนอยู่ที่เชิงบันไดชั้นล่าง จำเลยเป็นนายเรือมีหน้าที่รับผิดชอบในเรือทั้งทรัพย์สินและชีวิตของลูกเรือได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อระงับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น กลับถูกผู้ตายกับพวกจะทำร้ายจำเลยซึ่งมีแต่ตัวคนเดียว จำเลยจึงยิงผู้ตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแต่ผู้ตายกับพวกที่ขึ้นไปอยู่ตรงที่เกิดเหตุไม่มีอาวุธติดตัว คงมีเพียงคนเดียวที่ถือมีดดาบอยู่ตรงเชิงบันได้ชั้นล่างห่างที่เกิดเหตุ จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันจึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ม.ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ ลงโทษจำคุก ๑๐ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ว่า เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ส่วนฎีกาของจำเลยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ไม่ใช่ปืนในมือจำเลยลั่นขึ้นเองเพราะถูกผู้ตายล้มทับดังจำเลยนำสืบ และวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยเป็นกัปตันเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ ขณะเรือกำลังแล่นอยู่ในน่านน้ำ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นลูกเรือไม่พอใจจำเลยที่ห้ามมิให้ซื้อสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยวิธีหลบหนีภาษี จึงช่วยกันยุแหย่ให้พวกช่างกลและเดินเรือหยุดงานกว่า ๒๐ คน และตั้งวงเสพสุรากัน จำเลยขอร้องให้กลับเข้าทำงานก็ไม่เป็นผล มีผู้เตือนจำเลยว่าจะมีคนทำร้าย จำเลยถือปืนลงไปชั้นล่างสวนทางกับผู้ตายและพวกอีก ๓ – ๔ คน ผู้ตายจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ได้ความว่าแผนกช่างกลและเดินเรือมีลูกเรือแผนกละประมาณ ๒๐ คน วันเกิดเหตุลูกเรือยอมทำงานประมาณ ๑๕ คน และทำงานไปโยไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ขณะเกิดเหตุเรือยังแล่นเดินทางมาอย่างปกติ ฉะนั้น ภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจะเกิดแก่เรือถึงขั้นอับปางจึงยังไม่มี การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายจึงไม่ใช่การป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่เรือถึงขั้นอับปางเพราะผู้ตายกับพวกละทิ้งหน้าที่ แต่การที่ผู้ตายกับพวกขึ้นไปพบจำเลย ผู้ตายแสดงกริยาจะเข้าทำร้ายจำเลยและร้องตะโกนให้พรรคพวกนำอาวุธไปให้ ทั้งปรากฏว่ามีพวกของจำเลยคนหนึ่งถือมีดดาบยืนอยู่ที่เชิงบันไดชั้นล่าง จำเลยเป็นนายเรือมีหน้าที่รับผิดชอบในเรือทั้งทรัพย์สินและชีวิตของลูกเรือ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อระงับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น กลับถูกผู้ตายกับพวกจะทำร้ายจำเลยซึ่งมีแต่ตัวคนเดียว จำเลยจึงยิงผู้ตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่ผู้ตายกับพวกที่ขึ้นไปอยู่ตรงที่เกิดเหตุไม่มีอาวุธติดตัว คงมีเพียงคนเดียวที่ถือมีดดาบอยู่ตรงเชิงบันไดชั้นล่างห่างที่เหตุเกิด จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันจึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๘, ๖๙ ให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี