คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3743/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าพยานจำเลยที่ประสงค์จะส่งประเด็นไปสืบที่ประเทศอินเดีย เป็นบุตร บุตรเขย และหลาน กับเพื่อนผู้ใกล้ชิดกับ ด.บิดารู้เห็นเกี่ยวกับที่มาของที่ดินพิพาทและต้องให้พยานดังกล่าวรับรองลายมือชื่อหรือลายมือเขียนของ ด. อีกทั้งพยานเหล่านั้นรู้เห็นใกล้ชิดเหตุการณ์ซึ่ง น.ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยได้เบิกความไว้นั้น แต่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่จะนำสืบพยานดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ น.ได้เบิกความไว้แล้ว ทั้งจำเลยก็ได้อ้างส่งพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารไว้แล้วทั้งสิ้น และโจทก์ก็มิได้ปฏิเสธลายมือชื่อของ ด.ที่ปรากฏในเอกสารจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งประเด็นไปสืบพยานดังกล่าวให้เป็นการฟุ่มเฟือยและเสียเวลาเพราะพยานจำเลยเท่าที่นำสืบมากระจ่างชัดแจ้ง แม้จะให้สืบพยานจำเลยต่อไปก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น คดีจึงไม่มีประโยชน์อย่างใดที่จะส่งประเด็นไปสืบพยานเพิ่มเติมที่ประเทศอินเดีย
ตามบันทึกข้อตกลงระบุให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลย ด. และ อ.โดยเท่าเทียมกัน เท่ากับมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละ1 ใน 5 ส่วน แต่ตามสัญญาดังกล่าว ด.บิดาลงนามแทน อ.โดยไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจกันโดยถูกต้อง ทั้งในขณะทำสัญญา อ.มิใช่ผู้เยาว์ที่บิดาจะกระทำการแทนได้ อีกทั้ง อ.เป็นคนวิกลจริตมาแต่แรกเกิด ไม่สามารถรู้สึกผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นพูดไม่ได้เพราะสมองพิการ แสดงว่า ด.บิดาได้ทำสัญญาแทน อ. โดย อ.ไม่รู้ถึงการทำสัญญาดังกล่าวเลย และขณะนั้นศาลก็ยังมิได้มีคำสั่งให้ อ.เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล จึงถือไม่ได้ว่า อ.ได้ทำสัญญาดังกล่าว อ.จึงมิใช่คู่สัญญาด้วยแม้สัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ.มาตรา 374 ก็ตาม แต่เมื่อ อ.ไม่ได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะ อ.เป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถรู้สึกผิดชอบและไม่สามารถแสดงเจตนาด้วยตนเองว่าจะเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นดังนั้นสิทธิของ อ.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงยังไม่เกิดขึ้น อ.จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท แม้ อ.สละสิทธิในส่วนนั้นก็ไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของบิดากับบุตรตามบันทึกข้อความที่ประสงค์จะให้แต่ละคนมีสิทธิคนละส่วนเท่าเทียมกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสอง จำเลย กับ ด.จึงมีสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทคนละ 1 ใน 4 ส่วน
ที่จำเลยฎีกาว่า ด.ยังไม่สละสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิให้ ช.จัดการโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของ ด.กับ อ.ผู้ไร้ความสามารถเป็นของโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อสิทธิของ อ.ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังไม่เกิด จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า การสละสิทธิของ อ.ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นโมฆะหรือไม่
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละ 1 ใน 3 ส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 เจ้าของรวมย่อมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีนิติกรรมขัดอยู่ หรือวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ทั้งไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้แบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในเวลาที่เป็นโอกาสอันไม่ควรแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งแยกจนกว่าจะได้ดำเนินการแบ่งแยกส่วนของโจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะฟ้องแบ่งแยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากจำเลยในจำนวน 2 ใน 3 ส่วนตามที่ตนเป็นเจ้าของรวมได้
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ย่อมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้น โดยไม่ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น ทั้งตามบันทึกข้อตกลงก็กำหนดให้รายรับและการสูญเสียใด ๆ อันเกิดขึ้นจากบรรดาทรัพย์สินตามสัญญา ให้จัดการแบ่งโดยเท่าเทียมกันระหว่างคู่สัญญาทุกคน ซึ่งหมายถึงผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์สินเหล่านั้นดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท จึงมีสิทธิได้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท
ทรัพย์พิพาทมิใช่เป็นของจำเลยมาแต่แรก การที่จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่แรกนั้น เป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนบิดา ต่อมาได้มีการตกลงแบ่งแยกกัน โดยให้โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์คนละ 1 ใน 3 ส่วน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้นปัญหาที่ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประพฤติเนรคุณทำให้จำเลยเพิกถอนการให้ได้หรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

Share