คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ว่า โจทก์มิใช่คนสัญชาติไทย แต่เป็นคนสัญชาติญวนและสั่งให้โจทก์ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ แม้สำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมจะมิใช่นิติบุคคล โจทก์ก็ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ครองตำแหน่งดังกล่าวซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกิดในราชอาณาจักรไทยและมีมารดาคือโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงเป็นคนมีสัญชาติไทย การที่ ต.คนสัญชาติญวนเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้จดแจ้งชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในทะเบียนบ้านญวนอพยพตามคำสั่งจำเลย มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มิใช่คนสัญชาติไทย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 แจ้งชื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งในทะเบียนบ้านญวนอพยพและให้ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุคคลเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โจทก์ที่ ๑ แต่งงานกับนายตี๋ หรือเตืองตรั่น โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน เกิดบุตรด้วยกัน ๖ คน คือโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ จำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนจังหวัดนครพนมมีคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพกับนายทะเบียนญวนอพยพอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมโดยกล่าวหาว่าเป็นคนญวนอพยพ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นคนมีสัญชาติไทย และถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวน จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและคำสั่งของทางราชการ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ไม่ได้สัญชาติไทย หากได้สัญชาติไทยก็ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ แล้ว โจทก์ทุกคนมีชื่อในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพและทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ ถือได้ว่าสละสัญชาติไทย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนสัญชาติไทยโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ และไม่ได้สละสัญชาติไทย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพและจดแจ้งชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ แต่เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ในทะเบียนบ้านญวนอพยพ จึงไม่อาจบังคับจำเลยให้ถอนชื่อตามที่ขอ การที่โจทก์ที่ ๑ มีชื่อในทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยระบุว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคนไทยไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ที่ ๑ พิพากษาว่า โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ให้ถอนชื่อโจทก์ที่ ๒ ที่ ๖ ที่ ๗ ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนจังหวัดนครพนม ไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด กรมหรือกระทรวงใด สำนักงานกิจการญวนจังหวัดนครพนมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนจังหวัดนครหนม ซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ว่า โจทก์มิใช่คนสัญชาติไทย แต่เป็นคนสัญชาติญวน และสั่งให้โจทก์ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ แม้สำนักงานกิจการญวนจังหวัดนครพนมจะมิใช่นิติบุคคล โจทก์ก็ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ครองตำแหน่งดังกล่าวซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ ๑ มีบิดามารดาชื่อตายเตี๋ยน นางเถิง มิใช่ชื่อนายถัก นางปัด โจทก์ที่ ๑ มิได้เกิดในราชอาณาจักรไทย และเป็นคนมีสัญชาติญวน โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีบิดาชื่อนายตี ตรั่น มิใช่ชื่อนายตี๋หรือเตือง ตรั่น คนสัญชาติญวน และโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ก็มีสัญชาติญวน อีกทั้งโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มิได้เกิดในราชอาณาจักรไทย โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นคนสัญชาติญวนเช่นเดียวกัน การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ นายดี แสงสุวรรณซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดากับโจทก์ที่ ๑ และนายคำบ่อ แสงสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านเบิกความว่าโจทก์ที่ ๑ มีบิดามารดาชื่อนายถัก นางปัด โจทก์ที่ ๑ และบิดามารดาเกิดที่บ้านทู้ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นคนมีสัญชาติไทย โจทก์ที่ ๑ แต่งงานกับนายตี๋คนสัญชาติญวนโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน ๙ คน รวมทั้งโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ด้วย นอกจากนี้ตามทะเบียนบ้านก็ระบุว่าโจทก์ที่ ๑ มีสัญชาติไทย อีกทั้งโจทก์ที่ ๑ มีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงว่าเป็นคนไทย แม้ในทะเบียนบ้านญวนอพยพซึ่งมีชื่อโจทก์ที่ ๑ อยู่ด้วยก็ระบุว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคนไทยเช่นเดียวกันตามพยานหลักฐานดังกล่าวจึงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ เกิดในราชอาณาจักรไทย และเป็นคนมีสัญชาติไทย ส่วนโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ซึ่งจำเลยฎีกาว่ามิได้เกิดในราชอาณาจักรไทย และมีบิดาเป็นคนสัญชาติญวนโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ จึงเป็นคนมีสัญชาติญวนนั้น เมื่อโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นคนมีสัญชาติไทย โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เกิดในราชอาณาจักรไทย และทะเบียนบ้านระบุว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีสัญชาติไทย ดังนี้ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ จึงเป็นคนมีสัญชาติไทยการที่นายตี๋หรือเตืองคนสัญชาติญวนเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ และโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้จดแจ้งชื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ในทะเบียนบ้านญวนอพยพตามคำสั่งของจำเลยนั้น มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มิใช่คนสัญชาติไทยแต่อย่างใด การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ แจ้งชื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งในทะเบียนบ้านญวนอพยพและให้ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทย
พิพากษายืน

Share