คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3738/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหมายถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากบริษัทลูกค้าจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ชั้นจับกุมโจทก์ทั้งสามให้การรับสารภาพย่อมทำให้จำเลยระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสามจำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรและเป็นธรรม แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีผลทำให้การเลิกจ้างของจำเลยกลับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ เมื่อในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยกรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งเงินสมทบเงินสะสม เมื่อไม่จ่ายต้องถือว่าผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่ออกหนังสือรับรองการทำงาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินสมทบ เงินสะสม และค่าเสียหาย ให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมทั้งดอกเบี้ย และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้าง และถูกจับกุมดำเนินคดีการกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายรวมทั้งเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลยขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา จำเลยแถลงรับว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งสามได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ค่าครองชีพ ค่าตำแหน่งตลอดจนกำหนดการจ่ายค่าจ้าง อายุงาน เงินสมทบเงินสะสมตามฟ้องขอต่อสู้ประเด็นเดียวว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในหมวดที่ 4 บทที่ 6 ข้อ 4.1 ที่ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท” ข้อ 4.2 ที่ว่า “จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย” และในหมวดที่ 5 บทที่ 1 ข้อ 4.13 ที่ว่า “ลูกจ้างต้องไม่ลักทรัพย์หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นลักทรัพย์ของบริษัทหรือของผู้อื่นภายในบริเวณบริษัท” ส่วนในประเด็นข้ออื่นเรื่องเกี่ยวกับค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินสมทบเงินสะสมนั้น ขอให้ศาลพิจารณาชี้ขาดตัดสินโดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 43,344 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 36,366 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 41,100 บาท จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน101,136 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 48,488 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน75,350 บาท จ่ายเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 39,267 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,616บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 28,582 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 6 พฤษภาคม 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย วันที่ 5 พฤษภาคม 2535นายปรัชญา ศรจิตติ พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทฮิตาชิคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกร่วมกันลักเครื่องปั๊มน้ำของบริษัทไป 25เครื่อง รวมราคา 85,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ทั้งสามกับพวกอีก 3 คนมาดำเนินคดีชั้นจับกุม โจทก์ทั้งสามกับพวกให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ล.4 จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เห็นว่า การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นย่อมหมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้างสำหรับคดีนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามก็เนื่องจากบริษัทฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทไป อีกทั้งในชั้นจับกุม โจทก์ทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ล.4 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยมีความระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสามจำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นธรรม แม้ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจังหวัดสมุทรปราการจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของจำเลยกลับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ เมื่อฟังได้ว่าการเลิกจ้างของจำเลยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปจึงมีว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย เงินสมทบ เงินสะสมพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด ในปัญหาข้อนี้จำเลยขอต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในหมวดที่ 4 บทที่ 6 ข้อ 4.1 ที่ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท” ข้อ 4.2 ที่ว่า”จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย” และในหมวดที่ 5 บทที่ 1ข้อ 4.13 ที่ว่า “ลูกจ้างต้องไม่ลักทรัพย์หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นลักทรัพย์ของบริษัทหรือของผู้อื่นภายในบริเวณบริษัท” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์นั้น พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งเงินสมทบเงินสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสามทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เมื่อไม่จ่ายก็ต้องถือว่าผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงิน แต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 43,344 บาทโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 36,366 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 41,100 บาทจ่ายเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 39,267 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,616 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 28,582 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 6 พฤษภาคม 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share