แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในการวิวาทนั้น จำเลยที่ 1 ไม่พอใจที่ผู้ตายเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ ส่งเสียงดังจึงไปนำอาวุธปืนจากบ้านแม่ยายแล้วยิงขึ้นฟ้า 1 นัด จากนั้นก็พกอาวุธปืนไว้กับตนเองเพื่อรอที่จะต่อสู้กับฝ่าย ผู้ตาย การพาอาวุธปืนและยิงปืนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควร
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนของกลางพกติดตัวอยู่ เมื่อผู้ตายมาถึง จำเลยที่ 2 ได้ร่วมชกต่อยทำร้ายผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าทำร้ายผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ยิง เป็นการกระทำโดยเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้ตาย แม้ปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันทำร้ายผู้ตายดังกล่าวมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องร่วมรับผิดในผล แห่งความตายที่เกิดขึ้นด้วย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘, ๑๘๔, ๓๗๑, ๓๗๖ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ , ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบิดามารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๕ กับที่ ๖ ยกฟ้องจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ คนละ ๓ ปี ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ พาอาวุธปืนมาเพื่อใช้ป้องกันตัว เป็นการกระทำโดยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามพฤติการณ์และเป็นกรณีที่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง การยิงปืนของจำเลยที่ ๑ เป็นการยิงโดยมีเหตุสมควร จึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในการวิวาทนั้น จำเลยที่ ๑ ไม่พอใจที่ผู้ตายเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังจึงไปนำอาวุธปืนจากบ้านแม่ยายจำเลยแล้วยิงปืนขึ้นฟ้า ๑ นัด จากนั้นก็พกอาวุธปืนไว้กับตนเองเพื่อรอที่จะต่อสู้กับฝ่ายผู้ตาย การพาอาวุธปืนและยิงปืนของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควร
ปัญหาประการสุดท้ายที่จะวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ คนละ ๔ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ ๒ และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ คนละ ๒ ปี เป็นการแก้ไขเฉพาะโทษที่ลงแต่มิได้แก้บทกฎหมายด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๙๐ แต่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๙๕ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ความตายของผู้ตายเป็นผล มาจากการถูกกระสุนปืนที่จำเลยที่ ๑ ยิง มิได้เป็นผลจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ จึงมีความผิดตามมาตรา ๒๙๕ นั้น คดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ตามที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกา ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน ในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๔ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ มีสาเหตุกับ ผู้ตายมาก่อนเกิดเหตุ เมื่อผู้ตายบอกกว่าจะไปพาพวกของผู้ตายมายังที่เกิดเหตุ แทนที่จำเลยที่ ๑ จะหลีกเลี่ยงเพื่อให้เรื่องยุติลงด้วยดี จำเลยที่ ๑ กลับไปเอาอาวุธปืนของกลางของนายอำนวย ซึ่งเป็นพ่อตาของจำเลยที่ ๑ มาพกติดตัวไว้ และได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้า ๑ นัด ในทำนองอวดศักดาว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนพร้อมจะต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมดื่มสุรากับจำเลยที่ ๑ มาตั้งแต่ต้นทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนของกลางพกติดตัวอยู่ เมื่อผู้ตายมาถึงจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมชกต่อยทำร้ายผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ เข้าทำร้ายผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ ๑ ยิง เป็นการกระทำโดยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ที่ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำร้ายผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น แม้จะปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลจากการถูกกระสุนปืน ที่จำเลยที่ ๑ ยิง ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันทำร้ายผู้ตายดังกล่าวมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความตายที่เกิดขึ้นด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน .