คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายมีส่วนประมาทร่วมกับจำเลย โดยผู้ตายขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาด้วยความประมาทล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยและเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยในช่องเดินรถของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับ และ ณ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย ฎีกาของโจทก์ร่วมซึ่งอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่าเหตุเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาท ของจำเลยเพียงผู้เดียวแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุในฟ้อง จึงเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2536 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยขับรถกระบะด้วยความประมาทล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถที่วิ่งสวนมา ขณะนั้นนายยุทธพล รัตนพลแสน ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาด้วยความประมาทล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลย และเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยในช่องเดินรถของจำเลยห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถประมาณ 50 เซนติเมตรเป็นเหตุให้นายยุทธพลผู้ขับและนายณัฐพล นวลปาน ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายวุฒิชัย นวลปาน โจทก์ร่วมที่ 1และนางแสงระวี วิวัฒสวัสดินนท์หรือนวลปาน โจทก์ร่วมที่ 2 บิดามารดานายณัฐพล นวลปาน ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 83 เท่านั้น)

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(6), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี

โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า เหตุรถเฉี่ยวชนกันครั้งนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยเพียงผู้เดียวหรือไม่นั้นเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย ซึ่งตามฟ้องดังกล่าวระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า ขณะเกิดเหตุนายยุทธพล รัตนพลแสน ผู้ตายมีส่วนประมาทร่วมกับจำเลย โดยนายยุทธพลขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาด้วยความประมาทล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลย และเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยในช่องเดินรถของจำเลยห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถประมาณ 0.50 เมตร เป็นเหตุให้นายยุทธพลผู้ขับและนายณัฐพล นวลปานซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1ซึ่งอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุในฟ้องดังกล่าวแล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้วว่า เหตุที่รถเฉี่ยวชนกันจนเป็นเหตุให้นายยุทธพลคนขับรถจักรยานยนต์และนายณัฐพลบุตรโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย และรถจักรยานยนต์เสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังของทั้งจำเลยและนายยุทธพลผู้ตายจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วปรากฏว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยและนายยุทธพลผู้ตายร่วมกันอีกทั้งจำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ดาบตำรวจประพิมพ์รัตนพลแสน บิดาของนายยุทธพล รัตนพลแสน ผู้ตายรับไปเป็นที่พอใจแล้ว และยังนำเงินจำนวน 50,000 บาท มาวางศาลเพื่อมอบให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของนายณัฐพล นวลปาน ผู้ตายเพื่อเป็นการบรรเทาผลร้ายอีกด้วย จึงสมควรลงโทษจำเลยสถานเบา การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยถึง 3 ปี นั้นหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share