คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีมโนสาเร่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำให้การในวันที่มาศาลตามหมายเรียกของศาลหรือในวันอื่นต่อมาตามแต่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ โดยต้องมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลย เมื่อตามหมายเรียกของศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมาศาลเพื่อให้การแก้ข้อหา และนัดสืบพยานในวันเดียวกันจำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การและยื่นบัญชีระบุพยานและสืบพยานจำเลยพร้อมทั้งอ้างส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ในวันดังกล่าวได้จำเลยไม่อาจส่งสำเนาเอกสารตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 100,000 บาท กำหนดชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2533 จำเลยรับเงินจากโจทก์ไปในวันทำสัญญา หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 171,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้เป็นประกันการจ่ายเงินตามพันธบัตรที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินตามพันธบัตรไปครบถ้วนแล้ว สัญญากู้เงินจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 171,690 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ยึดถือไว้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธบัตรที่จำเลยโอนให้โจทก์หรือไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินหมาย จ.1น่าจะทำขึ้นเพื่อประกันว่าโจทก์จะได้รับเงินไถ่ถอนตามพันธบัตรรัฐบาลที่จำเลยโอนชำระหนี้เงินกู้เดิม เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าไถ่ถอนตามพันธบัตรรัฐบาลที่รับโอนไปจากจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่มีภาระจะต้องชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.1 อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

ส่วนการรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยมิได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้อย่างคดีมโนสาเร่ ซึ่งการพิจารณาคดีมโนสาเร่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 193 ที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำให้การในวันที่มาศาลตามหมายเรียกของศาลหรือในวันอื่นต่อมาตามแต่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ โดยต้องมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลย เมื่อคดีนี้ตามหมายเรียกของศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมาศาลเพื่อให้การแก้ข้อหาในวันที่ 8เมษายน 2542 และนัดสืบพยานในวันดังกล่าวด้วย จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การและยื่นบัญชีระบุพยานในวันสืบพยานได้ ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำให้การและสืบพยานจำเลยพร้อมทั้งอ้างส่งเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.3 ในวันดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจส่งสำเนาเอกสารหมาย ล.1 ถึงล.3 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 90 ได้ การจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เรื่องการกำหนดเวลายื่นสำเนาเอกสารก่อนวันสืบพยานมาใช้บังคับแก่คดีมโนสาเร่ จะต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมแก่สภาพของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมโนสาเร่แต่ละคดีด้วย และศาลชั้นต้นได้สั่งรับบัญชีระบุพยานและสั่งรับเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3ในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นนัดให้จำเลยมาศาลในวันแรกประกอบกับการสืบพยานในคดีมโนสาเร่มีลักษณะของการค้นหาความจริงในลักษณะเดียวกับการไต่สวนมากกว่าการรับฟังข้อเท็จจริงจากคู่ความอย่างคดีสามัญทั่วไป และอีกประการหนึ่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก่อนฟ้องคดีนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3จึงเป็นการชอบและไม่เสียความยุติธรรมแต่ประการใด”

พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share