คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าระบุว่า สายและอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามายังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องดูแลรับผิดชอบเอง เมื่อปรากฏว่าการไฟฟ้านครหลวง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดตั้งสายไฟฟ้ามาบรรจบสายที่ตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เท่านั้น และขณะเกิดเหตุ สายไฟฟ้าที่ต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าซึ่งติดกับเสาไฟฟ้าส่วนที่ใกล้ขอบชายคาโทรศัพท์ชำรุดเป็นเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านตู้โทรศัพท์ลงน้ำเป็นเหตุให้ ป. ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าที่ชำรุดดังกล่าว จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดแต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และมาตรา 437 วรรค 2 โดยที่จำเลยที่ 1ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 และพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพ.ศ. 2497 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ขณะที่เกิดน้ำท่วมขังกรุงเทพมหานคร ผู้ตายได้เดินลงไปในน้ำที่ทางเท้าร้านที่ผู้ตายทำงานอยู่เพื่องมเอาอิฐบล็อกซึ่งกั้นทำเป็นทำนบกั้นน้ำ ได้ถูกกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลจากสายไฟฟ้าบริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะในความครอบครองของจำเลยทั้งสองร่วมกันดูดถึงแก่ความตายเนื่องจากสายไฟฟ้าที่ต่อจากสายไฟฟ้าแรงสูงของจำเลยที่ 1 มาใช้กับหลอดไฟในตู้โทรศัพท์เกิดชำรุด โดยจำเลยทั้งสองไม่ตรวจดูแก้ไขจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมก้นชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 445,201 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะหัวใจวายมิได้ตายเนื่องจากถูกกระแสไฟฟ้าดูด จำเลยที่ 1 จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อใช้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เกิดเหตุกระแสไฟฟ้าตามคำฟ้องไหลผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ตรวจตราดูแลความชำรุดบกพร่องของสายไฟฟ้าที่อยู่หลังเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
จำเลยที่ 2 ให้การว่าไฟฟ้าในตู้โทรศัพท์สาธารณะใช้ระบบโฟโตเซลล์ จะสว่างเมื่อภายนอกมืด และจะดับเมื่อมีแสงสว่างจากภายนอกมากระทบ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 7 นาฬิกา พระอาทิตย์ขึ้นนานแล้ว ไฟฟ้าในตู้โทรศัทพ์จะดับและตามความเห็นของแพทย์ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะหัวใจวาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินฐานะและเกินความเป็นจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 301,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุมีน้ำท่วมบริเวณถนนสุขาภิบาล 2 เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ระดับน้ำท่วมบริเวณหน้าร้านขายผ้า “แสงเพชร”ประมาณ 60 เซนติเมตร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2526 เวลาประมาณ7 นาฬิกา นายประธาน แซ่ด่าน บุตรโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างร้านแสงเพชรได้ก้าวออกมานอกเขื่อนกั้นน้ำทำด้วยคอนกรีตบล๊อกหน้าร้านลงไปงมอิฐบล๊อกขั้นที่สามที่หล่นจากเขื่อนเอามาวางไว้บนเขื่อน ขณะงมมาถึงมุมร้าน ช. ศิริพันธ์ซึ่งอยู่ติดกับร้านแสงเพชร และอยู่ใกล้ตู้โทรศัทพ์สาธารณะ นายประธานก็ล้มคว่ำหน้าลงในน้ำถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ได้ความจาก นางสาวพรทิพย์ศินธร พยานโจทก์ว่าในวันเกิดเหตุนางสาวพรทิพย์นั่งอ่านหนังสือหน้าร้าน ช. ศิริพันธ์ตั้งแต่เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยมีเด็กพายเรือรับรับจ้างคนหนึ่งเดินในน้ำบริเวณใกล้ตู้โทรศัพท์ซึ่งขณะเกิดเหตุนอตยึดตู้หลวมโยกไปมาตามคลื่นน้ำได้และอยู่ห่างเสาไฟฟ้าประมาณ 30 เซนติเมตร เด็กดังกล่าวได้รีบกระโดดขึ้นบนเขื่อนกั้นน้ำโดยบอกนางสาวพรทิพย์ว่า บริเวณนั้นอาจจะมีไฟฟ้ารั่ว ขณะเกิดเหตุนายประธานกำลังก้มใช้มือความหาอิฐบล็อกบริเวณมุมร้าน ช. ศิริพันธ์ นางสาวพรทิพย์ได้ยินเสียงนายประธานร้อง “โอ๊ย” มีอาการเกร็งตัวล้มในลักษณะตะแคงแล้วคว่ำหน้าพร้อมกับมีเสียงกริ่งโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งมีควันออกมาจากทางด้านหลัง เมื่อนายประธานล้มลงเสียงกริ่งโทรศัพท์ก็เงียบขณะเกิดเหตุไม่มีการใช้เครื่องไฟฟ้าชนิดใด ๆ บริเวณหน้าร้านแสงเพชร และร้าน ช. ศิริพันธ์นางสาวพรทิพย์จึงรีบไปร้องบอกนายสำรวยลูกจ้างในร้านแสงเพชรโจทก์มีนายสำรวน กอพงศ์ เบิกความสนับสนุนว่า ขณะเกิดเหตุนายสำรวยกำลังหุงข้าวอยู่หลังร้านได้ยินนางสาวพรทิพย์ร้องเรียกบอกว่าไฟช็อตจึงมาดูหน้าร้านพบนายประธานมีอาการมือหงิกนอนคว่ำหน้าอยู่ในน้ำ มีควันขึ้นจากตู้โทรศัพท์และนายวิเชียรสุภัทรกุล เจ้าของร้านแสงเพชร พยานโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุได้มาดูพบรอยไหม้ที่สายไฟฟ้าใต้หลังคาตู้โทรศัพท์ ต่อมามีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 นำพลาสติกมาหุ้มไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ในข้อนี้ นายอนุวัตร ชิตวรากร ซึ่งเป็นวิศวกรไฟฟ้า จำเลยที่ 1 และนายสอาด มูซอ ลูกจ้าง จำเลยที่ 2ต่างเป็นพยานเบิกความรับได้ว่าได้ไปตรวจสอบสายไฟฟ้าจากมิเตอร์ไฟฟ้าไปยังตู้โทรศัพท์ในวันรุ่งขึ้นและอีก 2 วัน ตามลำดับเห็นมีรอยถลอกเล็กน้อยเป็นทองแดงสนิมสีเขียวใกล้อาคารตู้โทรศัพท์ซึ่งหลังคาเป็นสนิม สายไฟฟ้าดังกล่าวติดตั้งเมื่อวันที่ 14สิงหาคม 2523 ก่อนวันเกิดเหตุประมาณ 3 ปี ทั้งตู้โทรศัพท์ดังกล่าวขณะเกิดเหตุโยกไปมาได้ตามคลื่นน้ำท่วมเพราะนอตที่ยึดกับฐานหลอมโครงตู้เป็นอลูมเนียมหลังคาตู้เป็นเหล็ก ถ้าหากเกิดไฟช็อตหลังคาตู้ไฟฟ้าสามารถไหลลงสู่น้ำซึ่งท่วมอยู่ได้ และบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 3 แสดงว่า เปลือกหุ้มสายไฟฟ้าส่วนนี้ที่ใกล้ขอบชายคาตู้โทรศัพท์ชำรุดลักษณะถูกความร้อนละลายมองเห็นสายทองแดงและขอบชายคาที่อยู่ตรงกับตำแหน่งเปลือกสายชำรุดนี้สีลอกชำรุดเป็นสนิมมีรอยไหม้ปรากฏให้เห็นเล็กน้อยกรณีจึงน่าเชื่อว่านายประธานผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้ารั่วไหลมาจากตู้โทรศัพท์ดูดในขณะยืนอยู่ในน้ำใกล้ตู้โทรศัพท์ มีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์และชดใช้จำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1นำสืบว่าอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าหลังจากมิเตอร์ไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าที่เสาไฟเป็นของผู้ใช้ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบปฏิเสธคงมีแต่นายสอาด มูซอ พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่าตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุติดตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2522 โดยจำเลยที่ 1ติดตั้งสายไฟฟ้ามาบรรจบสายที่ตู้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 เท่านั้นทั้งปรากฏตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.4ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างข้อ 1 ว่า “สายและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามายังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นสิ่งติดตั้งภายในและเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้า ฉะนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเอง” เมื่อพิเคราะห์คำพยานบุคคล ประกอบแผนผังการติดตั้งสายไฟฟ้ากับตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ ตามเอกสารหมาย ล.7 ประกอบแล้วฟังได้ว่า จำเลยที่ 2แต่ผู้เดียวเป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าต่อจากมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งติดกับเสาไฟฟ้าและเป็นเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านประตูโทรศัพท์ลงน้ำเป็นเหตุให้นายประธานถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 วรรคสอง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ข้อที่จำเลยที่ 2 นำสืบแก้ตัวว่า สายไฟฟ้าที่ต่อเข้าตู้โทรศัพท์ผ่านโฟโตเซลล์ซึ่งทำให้ไฟฟ้าภายในตู้ดับเวลามีแสงพระอาทิตย์และผ่านเครื่องเบรกเกอร์ซึ่งจะตัดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในตู้นั้น เมื่อปรากว่าเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้ารั่วลงน้ำในคดีนี้เกิดจากสายไฟฟ้านอกอาคารตู้โทรศัพท์ซึ่งเป็นต่อจากมิเตอร์ไฟฟ้า จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์มารดานายประธานผู้ตายตามฟ้อง แต่คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องนั้น เป็นการกำหนดดอกเบี้ยให้เกินเลยไปจากคำขอที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตา 142 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และสำหรับความรับผิดเรื่องดอกเบี้ยของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share