คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,347,666 บาท ไปชำระหนี้จำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้ โดยผู้ร้องต้องแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่ผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,316,386.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช่ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ออกหมายบังคับคดี
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตอายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากผู้ร้องเป็นเงิน 400,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดบัญชีรับจ่ายถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 จำเลยทั้งสามยังคงเป็นหนี้โจทก์อีก 1,104,237.86 บาท ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 1/2539 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2539 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ซึ่งผู้ร้องมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามหมายบังคับคดี โดยรวมค่าธรรมเนียมอายัดพร้อมค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีเป็นเงิน 1,186,667.02 บาท โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว หากผู้ร้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ให้ผู้ร้องส่งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,104,237.86 บาท นับถัดจากวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 จนถึงวันที่ส่งเงินพร้อมค่าธรรมเนียมอายัดร้อยละ 3.5 ของดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย แต่ผู้ร้องไม่ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธินำเงินจำนวน 1,347,666 บาท ที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปหักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระแก่ผู้ร้องจำนวน 6,244,185.80 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และมาตรา 342 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้อง โดยให้ผู้ร้องชำระเงิน 1,186,677.02 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 และมาตรา 312
ผู้ร้องแถลงคัดค้านว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบข้อหารือของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่ผู้ร้องจะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ค่าปรับที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้และผู้ร้องได้มีหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 ทำให้การหักลบลบหนี้มีผลย้อนหลังไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบหนี้กันได้เป็นครั้งแรก คือ วันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัด
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนจากผู้ร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างหอพักนักศึกษา 192 ยูนิต ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ตามสัญญาจ้างเลขที่ 1/2539 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2539 ซึ่งครบกำหนดสัญญาจ้างในวันที่ 21 สิงหาคม 2540 ในวงเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 44,922,200 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่าสัญญา 42 วัน จึงถูกผู้ร้องปรับเป็นเงิน 1,886,732.40 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รับการขยายระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 150 วัน และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดก่อสร้างจำนวน 30 วัน เป็นครบกำหนดสัญญาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับคืนจำนวน 30 วัน เป็นเงิน 1,347,666 บาท แต่ผู้ร้องยังไม่ได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ได้รับการขยายเพิ่มเติมได้ ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 และปรับจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 139 วัน วันละ 44,922.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,244,185.80 บาท จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ครั้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) และค่าธรรมเนียมอายัด พร้อมค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีรวมเป็นเงิน 1,186,667.02 บาท โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากผู้ร้องส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ให้ผู้ร้องส่งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,104,237.86 บาท นับถัดจากวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 จนถึงวันส่งเงินพร้อมค่าธรรมเนียมอายัดร้อยละ 3.5 ของดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ผู้ร้องมิได้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดว่าผู้ร้องจะยึดเงินค่าปรับจำนวน 1,347,666 บาท ไว้ชำระหนี้ค่าปรับจำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้อง โดยไม่คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ หรือจะต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัด สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบข้อหารือ ที่ อส 0017/1449 ลงวันที่ 26 มกราคม 2544 ว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับจำนวน 1,347,666 บาท ที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปชำระค่าปรับที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้ โดยผู้ร้องจะต้องมีหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งจะทำให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก คือ วันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และมาตรา 342 ผู้ร้องจึงมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทม 1201/0543 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงผลการหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมกับแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องต้องส่งเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและต้องชำระค่าปรับแก่ผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนเงินค่าปรับจำนวน 30 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ นร 0407/15192 ลงวันที่ 11 เมษายน 2543 เป็นเงิน 1,347,666 บาท ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ของแต่ละฝ่ายถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อผู้ร้องได้มีหนังสือแจ้งแสดงเจตนาที่จะหักกลบลบหนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบหนี้กันได้เป็นครั้งแรก คือ วันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และมาตรา 342 คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ร้องที่จะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องได้หักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้ร้องจึงไม่ต้องส่งเงินค่าปรับให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทม 1201/6715 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือตามหนังสือที่ อส 0017/1449 ลงวันที่ 26 มกราคม 2544 ว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,347,666 บาท ไปชำระหนี้จำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้โดยผู้ร้องต้องมีหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทม 1201/0543 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงผลของการหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่เนื่องจากผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องรับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสี่ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในปี 2541 และจำเลยที่ 1 ยอมให้ผู้ร้องปรับเป็นเงิน 1,866,732.40 บาท โดยมีการหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าก่อสร้างก่อนที่จะมีหมายอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ต่อผู้ร้อง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาได้ 30 วัน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ต่อผู้ร้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับคืนนั้นขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามคำแถลงของผู้ร้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 ว่า ผู้ร้องเพิ่งจะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 หาใช่หักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในปี 2541 ดังที่ฎีกาไม่ ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องส่งเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนจากผู้ร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นไต่สวน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share