แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า หากสัญญาเช่าซื้อถูกยกเลิกไปผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในจำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าเสียหายพร้อมด้วยค่าปรับร้อยละสิบแปดต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 574 เพราะเป็นเพียงข้อกำหนดในการชำระค่าเช่าซื้อระหว่างที่ยังมิได้มีการเลิกสัญญากันพร้อมทั้งเบี้ยปรับกรณีผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นและค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้จะชำระค่าเสียหายที่จำเลยเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น330,000 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน แต่จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 2 งวดเป็นเงิน 30,000 บาท แล้วผิดนัดตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน300,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์2 คัน สำหรับรถยนต์คันแรกจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 85,000 บาท ส่วนรถยนต์คันที่สองจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 75,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและริบเงินจำนวนดังกล่าวและยึดรถยนต์ 2 คันดังกล่าวคืนไปแล้ว รถยนต์ 2 คันที่โจทก์ยึดคืนไปมิได้เสียหายแต่อย่างใดนอกจากนี้จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์อีก30,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลย 190,000 บาท ซึ่งนับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว แม้จำเลยจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์ แต่หนังสือรับสภาพหนี้มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้สินหรือเป็นการก่อหนี้สินขึ้นใหม่แต่อย่างใดเมื่อการรับสภาพหนี้ของจำเลยเป็นการรับสภาพหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดจึงไม่มีผลบังคับจำเลยได้ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,383 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเรื่องโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใดเสียก่อนปัญหาดังกล่าวเห็นว่าค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนั้น ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.1 และล.3 ข้อ 13 ระบุว่า หากสัญญาเช่าซื้อถูกยกเลิกไปผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในจำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าเสียหายพร้อมด้วยค่าปรับร้อยละสิบแปดต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 เพราะเป็นเพียงข้อกำหนดการชำระค่าเช่าซื้อระหว่างที่ยังมิได้มีการเลิกสัญญากัน พร้อมทั้งเบี้ยปรับกรณีผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้น ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงได้ ปัญหาว่าจำเลยควรรับผิดในค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระต่อโจทก์เพียงใดนั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเงิน 49,071 บาทสำหรับรถยนต์คันแรก และเป็นเงิน 44,532 บาท สำหรับรถยนต์คันที่สอง เห็นว่าค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ซึ่งค่าปรับที่โจทก์เรียกมานั้น เป็นค่าเสียหายที่สูงเกินควรเพราะคิดเป็นร้อยละจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในอัตราที่สูงมาก และจำเลยมีโอกาสได้ใช้รถยนต์ของโจทก์เพียงประมาณ 1 ปีเท่านั้น เห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยเพียงคันละ 32,000 บาทรวม 2 คัน เป็นเงิน 64,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
คงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมายจ.3 ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์นั้น มีมูลหนี้ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดข้อเท็จจริงได้ความจากคำนายเสรีภาพ ตันติวงศ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายสมจริง การะนัด ผู้จัดการฝ่ายบริหารหนี้สินของโจทก์ พยานโจทก์ว่าก่อนให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฮีโน่จากโจทก์ไปจำนวน 2 คัน โดยผ่อนชำระ 24 งวด ๆ ละ 29,250 บาทต่องวดต่อหนึ่งคันตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 รวมค่าเช่าซื้อ2 คันเป็นเงินทั้งสิ้น 1,404,000 บาท จำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 160,000 บาท จากนั้นจำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยและได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนจากจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 แล้วทำการขายไปคันแรกได้ 460,000 บาท คันที่สองได้เงิน 455,000 บาท รวม 2 คัน ได้เงินทั้งสิ้น 915,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเช่าซื้อซึ่งจำเลยได้ชำระให้โจทก์และโจทก์ยึดไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,075,000 บาท ภายหลังจากนั้นโจทก์จึงให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.3 ไว้ เห็นว่า นอกจากโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับของค่าเช่าซื้อที่ค้างรวมเป็นเงิน 64,000 บาท ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายประการอื่นตามที่อ้างมาด้วย กล่าวคือค่าซ่อมรถยนต์ ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรมต้องซ่อม คันแรกสิ้นเงินไป 39,894 บาทคันที่สองสิ้นเงินไป 34,420 บาท แต่โจทก์มีเพียงคำนายเสรีภาพและนายสมจริงพยานโจทก์ลอย ๆ โจทก์ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารอื่นใดสนับสนุน จึงเป็นเรื่องเลื่อนลอย ทั้งปรากฏว่ารถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว โจทก์ยึดมาแล้วขายได้เงิน 2 คัน เป็นเงินถึง915,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาซื้อเงินสด เพราะปรากฏจากคำนายเสรีภาพและนายสมจริงพยานโจทก์ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อขณะนั้นหากขายเงินสดจะตกคันละ 400,000 บาทเศษ และ 500,000 บาทเศษแสดงว่าหากซื้อเงินสดขณะนั้น 2 คัน ประมาณ 1,000,000 บาท ดังนั้นการที่โจทก์ยึดรถมาแล้วขายได้ถึง 915,000 บาท เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่ารถของโจทก์ไม่ได้ชำรุดหรือเสียหายอะไรมาก สภาพของรถยังคงดีมากจึงขายได้เงินจำนวนดังกล่าว อย่างไรก็ตามการที่จำเลยนำรถยนต์ของโจทก์ไปใช้อยู่ประมาณ 1 ปี ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าต้องมีการซ่อมแซมบ้าง จึงเห็นว่าค่าซ่อมตามสภาพรถดังกล่าวโจทก์ควรได้จากจำเลยเพียงคันละ 1,500 บาท 2 คันเป็นเงิน 3,000 บาทส่วนค่าติดตามยึดรถคืน โจทก์อ้างว่าต้องเสียเงินคันละ 5,000 บาทนั้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบให้ฟังได้เช่นนั้น น่าเชื่อว่าค่าติดตามยึดรถคืนนั้น โจทก์เสียไปเพียงคันละ 1,000 บาท รวม2 คันเป็นเงิน 2,000 บาทเท่านั้น สำหรับค่าธรรมเนียมต่อทะเบียน1,966 บาท เห็นว่าเมื่อครบกำหนดเสียค่าธรรมเนียมต่อทะเบียนซึ่งจำเลยใช้รถของโจทก์อยู่ จำเลยควรจะต้องเสีย เมื่อจำเลยไม่เสียโจทก์เป็นผู้เสียหายในเวลาต่อมาเช่นนี้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ได้ ส่วนค่าปรับเช็ค 2 ฉบับ ซึ่งสั่งจ่ายแล้วเบิกเงินไม่ได้ ฉบับละ 300 บาท และ 200 บาทนั้น โจทก์ย่อมเรียกจากจำเลยได้เพราะถือได้ว่าเป็นความเสียหายเกิดจากที่จำเลยผิดสัญญาเช่นกัน เมื่อรวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 71,466 บาทซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายเกินจำนวนดังกล่าวซึ่งโจทก์ให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 นั้นถือว่าเป็นส่วนที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ดังนั้นมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 นั้นมีจำนวนเพียง 71,466 บาทเท่านั้นแต่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระให้โจทก์ไปแล้วจำนวน 30,000 บาทจึงยังมีหนี้ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 41,466 บาทเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 41,466 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์.