คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ที่ขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และเนื่องจากคดีได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 แถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 8 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ทนายโจทก์ทั้งสี่ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุว่า “โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตตามโฉนดที่ดินที่แต่ละฝ่ายออกโฉนดที่ดินแล้วและได้ครอบครองอยู่แล้ว… โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ตามแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตและนำส่งศาลในคดีนี้…” แต่ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คู่ความยังมิได้ส่งแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่มีคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความติดตามนำแผนที่หรือรายงานการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินมาส่งต่อศาล มิฉะนั้น ให้ถือตามแนวเขตภาพถ่ายที่แนบสัญญายอมซึ่งคู่ความแถลงว่าเป็นแนวเขตเดิมตามหลักหมุดที่ดิน อันแตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ก็หาเป็นผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไป ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าว เมื่อไม่มีแผนที่หรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ซึ่งเป็นสาระสำคัญในอันที่จะระงับข้อพิพาทมาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว ทำให้ข้อสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่อาจระงับข้อพิพาทต่อกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว จึงไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งแปด ซึ่งตามสัญญาข้อ ๒ มีใจความว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตตามโฉนดที่ดินที่แต่ละฝ่ายออกโฉนดที่ดินและได้ครอบครองอยู่จริง และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตที่ดินพิพาทในคดีนี้ตามแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตและนำส่งศาลกับภาพถ่ายจำนวน ๙ ภาพ และให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความ
ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า ไม่สามารถดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากจำเลยทั้งแปดขัดขวาง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดสอบถามจำเลยทั้งแปด ในวันนัดโจทก์ทั้งสี่ยืนยันแนวเขตที่ดินตามรูปแผนที่วิวาทที่เจ้าพนักงานที่ดินส่งต่อศาลชั้นต้นภายหลังจากศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ส่วนจำเลยทั้งแปดยืนยันแนวเขตที่ดินตามหลักหมุดที่ปักอยู่ในปัจจุบันและตามภาพถ่ายแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิขอออกโฉนดได้เพียงที่ตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๒ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๘ ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะนั้น เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ที่ขอให้เรียกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะ โดยศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะนั้นเสีย และเนื่องจากคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์ทั้งสี่จะยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ แถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะและทนายโจทก์ทั้งสี่ไม่คัดค้าน จำเลยที่ ๖ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๘ จึงเป็นทายาทของจำเลยที่ ๘ ย่อมเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะได้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๖ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๘ ผู้มรณะ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ต่อไปว่า จำเลยทั้งแปดกระทำการขัดขวางการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๒ ระบุว่า “โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตตามโฉนดที่ดินที่แต่ละฝ่ายออกโฉนดที่ดินแล้วและได้ครอบครองอยู่จริง โจทก์ทั้งสี่คือแนวเขตตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๖๓ จำเลยที่ ๑ คือแนวเขตตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๔๐๘๙ และจำเลยทั้งแปดคือแนวเขตตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๖๒ และให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ตามแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตและนำส่งศาลในคดีนี้และภาพถ่ายจำนวน ๙ ภาพ และให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้” แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คู่ความยังมิได้ส่งแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๒ ดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่มีคำพิพากษาตามยอมว่า ให้คู่ความติดตามนำแผนที่หรือรายงานการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินมาส่งต่อศาล มิฉะนั้นให้ถือตามแนวเขตตามภาพถ่ายที่แนบสัญญายอมซึ่งคู่ความแถลงว่าเป็นแนวเขตเดิมตามหลักหมุดที่ดิน ซึ่งแตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๒ ดังกล่าว ก็หาเป็นผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาพิเคราะห์สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับภาพถ่ายที่แนบแล้ว เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๒ เมื่อไม่มีแผนที่หรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ซึ่งเป็นสาระสำคัญในอันที่จะระงับข้อพิพาทมาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว ทำให้ข้อสัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่อาจระงับข้อพิพาทต่อกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงไม่ชอบ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป ทั้งคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ โดยเสียค่าขึ้นศาลไว้ ๒๐๐ บาท ต่อมาในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบพร้อมกับระบุว่า “อนึ่ง ปรากฏว่าต่างฝ่ายต่างอ้างว่าที่ดินที่ปลูกสร้างรั้วและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของตน ซึ่งศาลต้องมีคำวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย เป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อหาเนื้อที่ที่ดินพิพาทเพื่อใช้ในการคำนวณค่าขึ้นศาลเพิ่ม โดยให้คู่ความไปนำชี้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้โจทก์ออกไปก่อน โดยถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ฝ่ายแพ้คดีจะต้องชำระ กับให้โจทก์คัดหลักฐานแสดงราคาที่ดินที่พิพาทมายื่นต่อศาลก่อนหรือในวันนัดหน้าเพื่อสั่งในเรื่องค่าขึ้นศาลที่เพิ่ม…” ปรากฏว่าก่อนที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จะทำการรังวัดที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อใช้ในการคำนวณทุนทรัพย์คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม โดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ บัญญัติไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ และคำสั่งของศาลชั้นต้น ตลอดจนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตามนัยที่กล่าวข้างต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่.

Share