คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3712/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีข้อสัญญาว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเป็นเงื่อนไขของสัญญาให้ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการและจำเลยได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่ศาลจะต้องไต่สวน และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญานี้ได้ ก็ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย เพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 10

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินจำนวน ๗,๙๓๘,๓๑๗.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๖,๗๙๗,๙๔๕.๔๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล… หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย… การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มิได้ดำเนินตามขั้นตอนของข้อสัญญา… โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง… ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐๑,๘๓๘.๗๔ ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสกุลเงินไทยเป็นเงินจำนวน ๗,๙๓๘,๓๑๗.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๖,๗๙๗,๙๔๕.๔๗ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๒) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งตามสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ ๑๓ ว่า “This agreement is to interpreted and applied to the laws of Quebec , Canada and any dispute arising herefrom shall be for settlement by a single arbitrator , in accordance with articles ๙๔๐ and following of the Civil Code of the province of Quebec” ซึ่งหมายความว่า “สัญญาฉบับนี้ให้ตีความและบังคับใช้ตามกฎหมายของรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา และข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการจำนวน ๑ คน เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๙๔๐ และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งของรัฐควิเบก” จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเป็นเงื่อนไขของสัญญาให้ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทตามสัญญานี้ โดยให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการนี้และในขณะที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อนตามสัญญาอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิขอให้ศาลจำหน่ายคดี ซึ่งศาลต้องไต่สวนและมีคำสั่งตามบทบัญญัติตามมาตรา ๑๐ ดังกล่าวข้างต้น และปรากฏว่าจำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อสัญญาดังกล่าวก่อน ซึ่งถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะฟ้องตามมาตรา ๑๐ ดังกล่าวนั่นเอง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะไม่ได้ทำการไต่สวนในปัญหาเรื่องสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยตรงตามมาตรา ๑๐ ดังกล่าวก็ตาม แต่ศาลดังกล่าวได้กำหนดปัญหาเรื่องสัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีแล้ว ซึ่งโจทก์และจำเลยได้นำสืบพยานหลักฐานรับกันว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ. ๑๒ และในสัญญานั้นมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวข้างต้น อันเป็นเงื่อนไขที่โจทก์และจำเลยตกลงกันกำหนดถึงวิธีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญา ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการไต่สวนตามมาตรา ๑๐ ข้างต้นแล้ว แม้ว่าโจทก์จะได้บอกเลิกสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นแล้วเพราะจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ขอผัดผ่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนูญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือบังคับใช้ไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นได้ โจทก์และจำเลยก็ยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการเสียก่อน และจำเลยได้โต้แย้งไว้แล้วจึงชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวในคดีนี้ก่อน ซึ่งย่อมมีผลให้ไม่มีคดีตามคำฟ้องของโจทก์ให้ต้องพิจารณาต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่กลับพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ไปจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน คืนค่าขึ้นศาลในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้แก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share