แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะมีประกาศกระทรวงเศรษฐการห้ามมิให้บริษัทที่หุ้นยังชำระไม่เต็มค่าหุ้นกู้ยืมเงิน แต่ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย การกู้ยืมเงินจึงไม่เป็นโมฆะ
ในกรณีที่ผู้ทรงเช็คตายภายหลังเช็คถึงกำหนดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 186 บัญญัติให้ขยายอายุความออกไปเป็น 1 ปีนับแต่วันตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของ ย. ผู้ตายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ส. บริษัท ส.ได้กู้ยืมเงินผู้ตายไปโดยออกเช็คไว้ให้ ต่อมาผู้ตายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และหลังจากนั้นบริษัท ส. ถูกถอนใบอนุญาต จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งต่อสู้ว่าบริษัท ส. ทำผิดประกาศกระทรวงเศรษฐการที่ไม่ให้กู้ยืมเงินในระหว่างที่ทุนชำระแล้วยังไม่ครบจำนวนและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท ส. ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยืมเงินเป็นการกระทำตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทสยามประกันภัย (1970) จำกัดตามเอกสารหมาย จ.3 มิใช่เป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทแต่อย่างใด ถึงแม้จำเลยจะอ้างว่าหุ้นของบริษัทสยามประกันภัย (1970) จำกัด ยังชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้นบริษัทจะกู้ยืมเงินไม่ได้เพราะมีประกาศกระทรวงเศรษฐการตามเอกสารหมาย ล.1 ห้ามไว้นั้น เห็นว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย และจำเลยที่ 5 ก็เบิกความว่าบริษัทที่ทำการฝ่าฝืนประกาศนี้จะถูกลงโทษคือปรับหรือถูกสั่งให้แก้ไขการกระทำที่ฝ่าฝืนเท่านั้น ดังนั้น การยืมเงินไม่เป็นโมฆะ
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปรากฏว่า เช็คเอกสารหมาย จ.5, จ.7, จ.9, จ.11, จ.13 รวม5 ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2518 นายยศสามีโจทก์ตายเมื่อวันที่ 24กันยายน 2519 นับแต่วันที่สั่งจ่ายถึงวันนายยศตายยังไม่ถึง 1 ปี กรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 186 บัญญติไว้ว่าให้ขยายอายุความออกไปเป็น 1 ปีนับแต่วันตาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทได้ภายในวันที่ 24 กันยายน 2520 แต่วันที่ 24และ 25 กันยายน 2520 เป็นวันหยุดราชการ โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 26กันยายน 2520 ได้
พิพากษายืน