แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้จดทะเบียนบริษัทจำกัด ณ มลรัฐเดลาแวร์ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อ.ประธานกรรมการโจทก์เป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งให้ จ. หรือ ว. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีในศาลจนสำเร็จ หนังสือฉบับนี้มี ซ.โนตารี่ปับลิกแห่งมลรัฐเคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาลงชื่อและประทับตรารับรองว่าผู้มอบอำนาจเป็นประธานกรรมการบริษัทได้แสดงตนว่า บริษัทนี้ได้ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวตามกฎหมายหรือโดยมติคณะกรรมการ และมีการลงชื่อกับประทับตราสถานกงสุลใหญ่ประจำนครลอสแองเจลิสไว้ด้วยถือได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้จ.เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์โดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” กับสินค้าเครื่องเสียงของโจทก์จำหน่ายแพร่หลายทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”EARTHQUAKE” ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการจดทะเบียนในนาม ล. ตั้งแต่ปี 2532 และต่อมา ล. โอนเครื่องหมายการค้านี้แก่โจทก์โดยไม่แน่ชัดว่าการโอนมีผลสมบูรณ์ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ก็ใช้คำว่า”EARTHQUAKE” เป็นส่วนสำคัญของชื่อโจทก์ตลอดมา ทั้งที่อยู่ของ ล. ที่จดแจ้งลงในทะเบียนสำคัญเครื่องหมายการค้าก็เป็นที่เดียวกับสำนักงานของโจทก์ในปี 2532 และไม่ปรากฏว่าล. ใช้เครื่องหมายการค้านี้หรือโต้แย้งคัดค้านการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เลย แต่กลับยืนยันว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้และในที่สุดที่โอนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า ล. และโจทก์มีความประสงค์ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้โจทก์จึงใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” กับสินค้าของโจทก์จนแพ่งหลายตลอดมา เช่นนี้โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายมลรัฐเดลาแวร์ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์มอบอำนาจให้นางจริยา เปรมปราณีรัชต์เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EARTHQUAKE” อ่านว่า เอิร์ธเควค แปลว่าแผ่นดินไหว โดยใช้และโฆษณากับสินค้าจำพวก 8 คือ เครื่องเสียงเครื่องขยายเสียง ลำโพง สิ่งซึ่งใช้ล้อมลำโพง สะพานอิเล็กทรอนิกส์เครื่องรับสเตอริโอ แบบเอเอ็ม-เอฟเอ็ม เครื่องสเตอริโอแบบตลับคาสเซ็ทท์ เครื่องเล่นสเตอริโอแบบแผ่นคอมแพ็คดิสก์ผลิตออกจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ เป็นเวลาช้านานจนเป็นที่นิยมและรู้จักแพร่หลายทั่วไป โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในต่างประเทศ และมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายพอสมควร ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ในประเทศไทยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 223800 สำหรับสินค้าจำพวก 8 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากระทรวงพาณิชย์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งขอจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2533 ตามคำขอเลขที่ 200703 ทะเบียนเลขที่ 142217 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนให้โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” โดยลอกเลียนเครื่องหมายการค้านี้ไปยื่นขอจดทะเบียนโดยโจทก์ไม่ยินยอม โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “EARTHQUAKE” ดีกว่าจำเลย โดยโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้มาก่อน การกระทำของจำเลยทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือเครื่องหมายการค้าหรือเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วม การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง โจทก์ขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้ทั้งได้เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสินค้าเป็นจำนวนเงินมหาศาล โจทก์เสียหายเป็นเงินเดือนละ 50,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 223800 ดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” กับสินค้าของจำเลยอีกต่อไปกับให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 200703ทะเบียนเลขที่ 142217 ต่อกองเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” กับสินค้าของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้เป็นบริษัทจำกัด และไม่มีหลักฐานรับรองว่าเป็นบริษัทจำกัดจากราชการมลรัฐเดลาแวร์ นางซาไบน์ ฮอบแมนน์ ไม่มีอำนาจทำกิจการแทนโจทก์ การลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวเพราะไม่มีตราสำคัญของบริษัทประทับทั้งการรับรองของสถานกงสุลใหญ่แห่งประเทศไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาและโนตารีปับลิกแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็รับรองในฐานะส่วนตัว กับมิใช่โนตารีปับลิกแห่งมลรัฐเดลาแวร์ที่โจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทเป็นบริษัทเป็นผู้รับรอง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” เพื่อใช้และโฆษณาสินค้าของโจทก์ หากเป็นจริงก็เป็นเพียงผู้เริ่มผลิตจำหน่ายรายย่อยในประเทศสหรัฐอเมริกา เท่านั้น ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป และไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศทั้งสินค้าก็คุณภาพไม่ดี ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตและทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ผลิตจำหน่าย วิทยุเทป ลำโพง เครื่องขยายเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง สินค้าจำพวกที่ 8โดยใช้เครื่องหมายการค้า “EARTHQUAKE” เป็นเวลาช้านานแล้ว ได้โฆษณาและจำหน่ายภายในประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันแพร่หลายและเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2533 จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า”EARTHQUAKE” ดีกว่าโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเสียหาย หากจะรับผิดก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า”EARTHQUAKE” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 223800ดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE”กับสินค้าของจำเลยอีกต่อไป ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 200703 ทะเบียนเลขที่ 142217 ต่อกองเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ได้ความจากหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.39 ว่าบริษัทเอิร์ธเควค ซาวด์ คอรืปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนบริษัทจำกัด ณ มลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนางซาไบน์ ฮอบแมนน์ ประธานกรรมการโจทก์เป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งให้นางจริยา เปรมปราณีรัชต์ หรือนางสาววรนุช เชียงพุดชา เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีในศาลจนสำเร็จได้ หนังสือฉบับนี้มีนายซี จี วิลสันโนตารี่ปับลิกแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ลงชื่อประทับตรารับรองว่า ผู้มอบอำนาจเป็นประธานกรรมการบริษัทได้แสดงตนว่าบริษัทนี้ได้ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวตามกฎหมายหรือโดยมติคณะกรรมการ และมีการลงชื่อกับประทับตราสถานกงศุลใหญ่ประเทศไทยประจำนครลอสแองเจลิสไว้ด้วย พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นอย่างอื่นเช่นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นางจริยาเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์โดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ดีกว่าจำเลยและมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ นางจริยาผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”EARTHQUAKE” ตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมา ต่อมานางลินดา เอ ฟรานซิสมารดานายโยเซฟ ซายูน ซึ่งเป็นสามีของนางซาไบน์ ประธานกรรมการโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532ตามทะเบียนสำคัญเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.41 และต่อมานางลินดาได้โอนเครื่องหมายการค้านี้ให้แก่โจทก์ ตามหนังสือโอนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.42 โจทก์ได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” และจำหน่ายสินค้าตามเครื่องหมายการค้านี้สู่หลายประเทศ และแต่งตั้งให้บริษัทเอส เอ็ม แอนด์ เอ็ม มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย นายสุชาติ มหันตกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเอส เอ็ม แอนด์ เอ็ม มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เบิกความว่าได้สั่งสินค้าของโจทก์มาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2533 และบริษัทดังกล่าวได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2535 พยานได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ในนิตยสารหลายฉบับตามหนังสือเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.37 และนำสินค้าของโจทก์ไปร่วมแสดงในงานแสดงสินค้าตามภาพถ่ายหมาย จ.38 ส่วนจำเลยนำสืบว่าเมื่อปี 2528 จำเลยร่วมกับเพื่อนประดิษฐ์เครื่องเสียงขึ้นชุดหนึ่ง เมื่อเปิดใช้แล้วมีเสียงแรงสะเทือนคล้ายกับพื้นที่แตกจึงตั้งชื่อเครื่องหมายการค้าว่า “EARTHQUAKE” โดยประดิษฐ์เป็นอักษรโรมันให้ตัวอักษรด้านบนและด้านล่างเยื้องกันเล็กน้อย ต่อมาได้นำไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าจำพวก 8 สำหรับสินค้าวิทยุ เทป ลำโพง เป็นต้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามคำขอเลขที่ 200703 ทะเบียนเลขที่ 142217 จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านี้กับลำโพงที่จำเลยผลิตขึ้นจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไป เห็นว่า โจทก์ได้ใช้คำ “EARTHQUAKE” เป็นชื่อโจทก์และผลิตเครื่องเสียงโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE”จำหน่ายแก่ลูกค้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นอีกหลายประเทศและแต่งตั้งให้บริษัทเอส เอ็ม แอนด์ เอ็ม มาร์เก็ตติ้ง จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย นายสุชาติกรรมการบริษัทดังกล่าวได้ซื้อลำโพงที่มีเครื่องหมายการค้า “EARTHQUKE” มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้นายสุชาติได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์โฆษณาตามนิตยสารหลายฉบับและนำออกแสดงในงานแสดงสินค้านายโยเซฟรองประธานกรรมการโจทก์ได้บันทึกประวัติการประดิษฐ์เครื่องหมายการค้านี้ว่า นายโยเซฟเป็นผู้ออกแบบเครื่องหมายการค้าเมื่อปี 2529 หรือ 2530 โดยใช้ใบมีดโกนตัดต้นแบบอักษรคำว่า”EARTHQUAKE” ให้แยกออกจากกัน แล้วเลื่อนท่อนบนแยกออกจากท่อนล่างจนดูเหมือนว่าแยกตัวออกในขณะเกิดแผ่นดินไหว ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกับเพื่อได้ประดิษฐ์ลำโพงลองใช้แล้วมีเสียงแรงมากคล้ายพื้นจะแตก จึงตั้งชื่อเครื่องหมายการค้าว่า “EARTHQUAKE” นั้น จำเลยมิได้นำเพื่อนที่ร่วมกันประดิษฐ์ลำโพงและตั้งชื่อนั้นมาเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่มีโรงงานประดิษฐ์เครื่องเสียงของตนเอง ไม่เคยโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้านี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” กับสินค้าเครื่องเสียงของโจทก์จำหน่ายแพร่หลายทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายกาค้าแม้จะปรากฏว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “EARTHQUAKE” ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการจดทะเบียนในนามนางลินดา ตั้งแต่ปี 2532 และต่อมานางลินดาโอนเครื่องหมายการค้านี้แก่โจทก์โดยไม่แน่ชัดว่าการโอนมีผลสมบูรณ์ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่า โจทก์ใช้คำว่า”EARTHQUAKE” เป็นส่วนสำคัญของชื่อโจทก์ตลอดมา นางลินดาก็เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกับประธานและรองประธานบริษัทโจทก์ ทั้งที่อยู่ของนางลินดาที่จดแจ้งลงในทะเบียนสำคัญเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.41 ก็เป็นที่เดียวกับสำนักงานของโจทก์ ในปี 2532 ตามที่ปรากฏในเอกสารเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายเอกสารหมาย จ.46 และ จ.48 และไม่ปรากฏว่านางลินดาใช้เครื่องหมายการค้านี้หรือโต้แย้งคัดค้านการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เลย และยังกลับยืนยันว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้และในที่สุดก็โอนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.42 พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้น่าเชื่อว่านางลินดาและโจทก์มีความประสงค์ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์จึงใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”EARTHQUAKE” กับสินค้าของโจทก์จนแพร่หลายตลอดมา เช่นนี้โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
พิพากษายืน