คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ฉบับ สัญญาจะใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเมื่อทวงถาม โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ 29,368,219.18 บาท จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 จึงให้งดการพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารแผน หากมีการดำเนินการครบถ้วนตามแผนโจทก์ย่อมได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามแผน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 จะประกอบกิจการต่อไปได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการต้องอาศัยความรู้ความสามารถของจำเลยที่ 2 กรณีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อทวงถามพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในวันครบกำหนดพร้อมเงินต้น และ/หรือวันทำการสุดท้ายของทุก ๆ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม2541 หากผิดนัดให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุด จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดโดยไม่ชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 โจทก์คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,368,219.18 บาท รวมเงินทั้งสิ้นที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์ 29,368,219.18 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการโดยตั้งบริษัทเทด้า แพลนเนอร์ส จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และนางสาวนริศรา พัฒนพิบูล เป็นกรรมการ เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารแผน จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนเงิน 29,368,219.18 บาท ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบการมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ประกอบกับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน2541 เป็นต้นมา จำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และตามแผนฟื้นฟูกิจการมีข้อกำหนดว่าเจ้าหนี้ทั้งหลายตกลงที่จะระงับการเรียกร้องใด ๆ จากผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ดังนั้นโจทก์จึงหามีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ไม่นั้น เห็นว่า ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ในส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนั้น คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตามแผนฟื้นฟูกิจการหน้า 105 กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 3 ได้รับชำระหนี้คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเพียงร้อยละ 20.5 หาใช่เต็มจำนวนตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่เช่นนี้ แม้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนโจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 2 อยู่ ทั้งในส่วนที่กำหนดให้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามแผนก็หมายความเพียงว่า การบริหารแผนสำเร็จลงด้วยดีทำให้ผลประกอบการของจำเลยที่ 1 ได้กำไรจนมีเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่มีความแน่นอนและที่แผนฟื้นฟูกิจการระบุว่าเจ้าหนี้ทั้งหลายตกลงที่จะระงับการเรียกร้องใด ๆ จากผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า กรณีเป็นการที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียว โดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150โจทก์ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ และที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการย่อมแสดงว่า เจ้าหนี้ทั้งหลายเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 1 สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ครบถ้วนตามแผน จึงไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายนั้น เห็นว่า การจะพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยในคดีล้มละลายคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอนอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/65 และมาตรา 90/68 ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารแผนของจำเลยที่ 2 แผนฟื้นฟูกิจการหน้า 109 กำหนดว่า จำเลยที่ 2 จะได้ค่าตอบแทนเดือนละ 250,000 บาท ทำสัญญาเป็นรายปี เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ประกอบกับการที่จำเลยที่ 2 มิได้นำรายได้ดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย ดังนั้นลำพังเพียงการที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร”

Share