คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบกิจการสถานบริการบังกะโลมีคำสั่งมิให้พนักงานหยุดงานในวันที่ 5,6,7 เมษายนเพราะจำเลยมีความประสงค์จัดการแสดงอาหารและบริการของจำเลย เพื่อเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ใช้บริการหรือลูกค้า จึงสั่งให้พนักงานจัดแสดงอาหารตกแต่งสถานที่และประดับไฟ ให้สวยงามกว่าปกติ การแสดงดังกล่าวย่อมมีความสำคัญ ต่อกิจการของจำเลย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องไฟฟ้า อันเกี่ยวข้องกับการแสดงโดยตรง หยุดงานหรือไม่มาทำงาน ในวันที่ 6,7 โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบย่อมมีผลกระทบกระเทือน ต่อกิจการของจำเลยโดยตรง ถือว่าโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลย เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดย ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 7,350 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,956 บาท ให้แก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2527 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นช่างไฟฟ้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,450 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งมิให้พนักงานหยุดงานในวันที่ 5, 6 และ 7 เมษายน 2529 ปรากฏรายละเอียดตามภาพถ่ายคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 แต่โจทก์หยุดงานในวันที่ 6 และ 7 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ฐานขัดคำสั่งดังกล่าวของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบกิจการสถานบริการบังกะโลซึ่งตามปกติมีผู้ใช้บริการเฉพาะในระหว่างเทศกาลหรือวันเสาร์วันอาทิตย์ โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องไฟฟ้าจึงมีความสำคัญต่อสถานบริการของจำเลยในวันเทศกาลหรือวันหยุด การที่จำเลยมีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.1 สั่งมิให้พนักงานหยุดงานในวันหยุดโดยคำสั่งระบุถึงพนักงานทุกแผนกรวมทั้งโจทก์ และโจทก์ทราบคำสั่งของจำเลยแล้ว แต่หยุดงานหรือไม่มาทำงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบถือว่าเป็นการขัดคำสั่งซึ่งเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงและนอกจากนี้ปรากฏว่าก่อนนี้ โจทก์เคยหยุดงานติดต่อกันหลายครั้งโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ซึ่งจำเลยเคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเมื่อโจทก์กระทำความผิดอีก จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด เพราะโจทก์หยุดงานโดยได้ขออนุญาตและแจ้งให้จำเลยทราบตามระเบียบแล้ว เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์กระทำผิดเพราะขัดคำสั่งของจำเลยกรณีที่สั่งมิให้หยุดงานในวันหยุด โจทก์ก็เพียงแต่แถลงว่า โจทก์มิได้ทราบคำสั่งของจำเลยมิได้โต้เถียงว่าคำสั่งของจำเลยไม่ใช่คำสั่งแจ้งโจทก์มิให้หยุดงานในวันหยุด คดีจึงไม่มีปัญหาที่โต้เถียงกันว่า คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งแจ้งโจทก์มิให้หยุดงานในวันหยุดหรือไม่ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.1ไม่ใช่คำสั่งแจ้งโจทก์มิให้หยุดงานในวันหยุด โจทก์ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่มีผลต้องถือว่าคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นคำสั่งแจ้งโจทก์มิให้หยุดงานในวันหยุด ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ทราบคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องถือยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยโดยหยุดงานในวันหยุดนั้น เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามรายละเอียดคำสั่งเอกสารหมาย ล.1จำเลยมีความประสงค์ที่จัดการแสดงอาหารและบริการของจำเลยเพื่อเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ใช้บริการหรือลูกค้า จึงสั่งให้พนักงานจัดแสดงอาหารตกแต่งสถานที่และประดับไฟให้สวยงามกว่าปกติการแสดงดังกล่าวย่อมมีความสำคัญต่อกิจการของจำเลยการที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องไฟฟ้าอันเกี่ยวข้องกับการแสดงของจำเลยโดยตรงหยุดงานหรือไม่มาทำงานตามคำสั่งของจำเลยโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยโดยตรง ต้องถือว่าการที่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share