คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3701/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ ประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินทั้งนี้โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ครบถ้วนและมิได้ให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกซึ่งออกตามมาตรา 19 โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งเป็นคดีต่อศาล เพราะการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติไปแล้ว คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องโดยชัดแจ้งว่า โจทก์หาได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 แต่อย่างใดไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรย่อมเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ได้ ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ยุติโดยโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ ชอบที่จะฟังพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความก่อนพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมประกอบกิจการเดินรถยนต์โดยสารประจำทางและประกันภัย ต่อมาได้เลิกกิจการประกันภัยและได้โอนกิจการและรถยนต์โดยสารให้แก่นิติบุคคลอื่นโจทก์มิได้ประกอบกิจการรถยนต์โดยสารอีก คงมีแต่ให้เช่าทรัพย์สินรวบรวมทรัพย์สินและจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินเพื่อเตรียมเลิกกิจการและชำระบัญชี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2522 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีคำสั่งแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2514 ถึง 2519 เป็นเงิน2,155,181.07 บาท การประเมินภาษีดังกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ครบถ้วนและไม่ได้ให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกที่ออกตามมาตรา 19แห่งประมวลรัษฎากรโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงต้องประเมินเรียกเก็บภาษีอากรตามมาตรา 21 และ 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ โจทก์เห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องและไม่มีอำนาจเพราะโจทก์มิได้ฝ่าฝืนมาตรา 21 และ 71(1)แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ได้ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้แก่จำเลยครบถ้วนตามที่ต้องการและได้เคยไปให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวน จำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีตามบทกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยยังได้นำรายการที่ไม่ใช่รายรับมาเป็นรายรับทำให้คำนวณภาษีเพิ่มขึ้นกว่าความเป็นจริงอีกด้วยแต่กรณีต้องห้ามอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลย

จำเลยให้การว่า การที่โจทก์โอนกิจการเดินรถโดยสารประจำทางให้นิติบุคคลอื่นนั้น โจทก์มีรายได้จากการให้เช่าและขายรถยนต์โดยสารประจำทางซึ่งต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีเหตุอันควรเชื่อว่า การแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ตามแบบที่ยื่นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ถึง 2519 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรได้ออกหมายเรียกถึงกรรมการผู้จัดการโจทก์ให้นำบัญชีที่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมด้วยเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับปีพ.ศ. 2514 ถึง 2519 ไปส่งมอบเพื่อทำการตรวจสอบและไปให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบไต่สวนในวันที่ 8 ธันวาคม2519 โจทก์ทราบแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกแต่ได้มีหนังสือให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไปตรวจสอบบัญชีและเอกสารณ ที่ทำการของโจทก์เพื่ออำนวยความสะดวก จำเลยได้ส่งเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไปตรวจสอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีที่บริษัทโจทก์ โดยแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไปทำการตรวจสอบหลายครั้งแต่โจทก์ไม่ได้รวบรวมบัญชีและเอกสารให้ทำการตรวจสอบโดยครบถ้วน และไม่มีผู้ชี้แจงประกอบทั้งนี้โดยโจทก์มีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติและไม่รวบรวมบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการตรวจและไม่ให้ความร่วมมือด้วยดีในการตรวจสอบประเมินภาษี เมื่อครบรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2519 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ออกหมายเรียกตามมาตรา 19 ถึงกรรมการผู้จัดการโจทก์ให้นำบัญชีและเอกสารไปตรวจสอบอีก โจทก์ทราบแล้วแต่เพิกเฉยจำเลยได้ส่งหนังสือเตือนโจทก์อีกหลายครั้งแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติครั้งสุดท้ายเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 23 เมษายน 2522 ให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2514 ถึง 2519 ไปส่งมอบให้ตรวจสอบและให้ถ้อยคำชี้แจงด้วยตนเอง โจทก์เพิกเฉยไม่ส่งมอบและไม่มาให้ถ้อยคำชี้แจงทั้งไม่แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด โจทก์มีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกและหนังสือเตือนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2519 โจทก์มิได้ยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดตามกฎหมาย โดยเพิ่งยื่นเมื่อวันที่ 31มกราคม 2521 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายรับของโจทก์ที่ยื่นไว้ใน ภ.ง.ด.5ได้ตามมาตรา 21 และมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514ถึง 2519 ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยได้ส่งแบบคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มโดยให้โจทก์นำไปชำระ ณ ที่ทำการเขตพระนครภายใน 30 วันโจทก์รับทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2522 กรณีนี้โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้เป็นกรณีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องก็ต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้อุทธรณ์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์และเงินเพิ่มโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ประกอบกับมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรทั้งนี้โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ครบถ้วน ทั้งมิได้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกที่ออกตามมาตรา 19โดยไม่มีเหตุสมควรทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน หากฟังได้เช่นนั้นจริง โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินขึ้นโต้แย้งเป็นคดีต่อศาล แต่ในข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 21 และมาตรา 71(1) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ หากข้อเท็จจริงเป็นดังโจทก์กล่าวอ้างโจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ หาจำต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชั้นหนึ่งก่อนแต่อย่างใดไม่ แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ยุติโดยโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ ชอบที่จะฟังพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความก่อน พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การประเมินภาษีอากรรายพิพาทเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ทั้งนี้โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ครบถ้วน และมิได้ให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการไต่สวนตามหมายเรียกซึ่งออกตามมาตรา 19 หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งเป็นคดีต่อศาล เพราะการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติไปแล้วแต่คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอย่างชัดแจ้งว่าโจทก์หาได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 แต่อย่างใดไม่หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรย่อมเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ได้ ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะแต่ในกรณีที่ไม่ห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 21 หรือมาตรา 25 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ถึงแม้โจทก์จะอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share