คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออกเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 81/3(1) บัญญัติให้ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักจากภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3
กรมสรรพากรโจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ด แต่จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลยเพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่งจึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยยังยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ขอคืนภาษีซื้อ เป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อคืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมคืน โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงมูลหนี้และเหตุที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยแจ้งชัดแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยถูกตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนตุลาคม 2539เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์สำแดงว่ามียอดซื้อ 52,360.12 บาท มีภาษีซื้อ 3,665.20 บาท จำเลยขอภาษีซื้อจำนวนดังกล่าวคืนเป็นเงินสด แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่านับแต่จำเลยได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังดังกล่าวเพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)ก. จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน การยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนตุลาคม 2536 จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ภาษีคลาดเคลื่อน จำเลยจึงต้องเสียเบี้ยปรับ1 เท่าของภาษีที่ขอคืนเป็นเงิน 3,665.20 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบให้นำเบี้ยปรับมาชำระภายใน30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน จำเลยเพิกเฉย และจากการตรวจแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2535 อันเป็นวันที่จำเลยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการค้าส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดจนถึงเดือนกันยายน 2536 และเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม2539 ปรากฏว่าจำเลยยื่นแบบ ภ.พ.30 ขอคืนภาษีซื้อด้วยเงินสดรวม 48 ฉบับ รวมเงินภาษีซื้อ 2,013,736.31 บาท ซึ่งเป็นสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เพราะจำเลยมิได้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ด เพียงแต่ขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ผู้ค้าในประเทศเท่านั้น จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 81(1) ก. จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน ด้วยการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จของจำเลยเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อตามที่จำเลยสำแดงจึงคืนภาษีซื้อตามแบบ ภ.พ.30 จำนวน 48 ฉบับดังกล่าวเป็นเงิน 2,013,736.31 บาท ให้แก่จำเลยโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีซื้อที่จำเลยรับไปมาคืนให้แก่เจ้าพนักงานของโจทก์ภายใน 30 วัน จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 163,616.18 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินภาษีและชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับแก่โจทก์รวม2,181,017.69 บาท ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยภาษีที่ต้องคืนจำนวน 2,013,736.31 บาท อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยกระทำตามระเบียบกรมสรรพากรอย่างถูกต้อง การคืนภาษีและการตรวจภาษีเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานโจทก์ จำเลยขอให้รายละเอียดในชั้นพิจารณา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันชี้สองสถานศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ทนายโจทก์นำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมาแถลงว่า เงินค่าภาษีที่จำเลยขอคืนตามฟ้องเป็นเงินค่าภาษีซื้อที่จำเลยจ่ายในการซื้อวัสดุก่อสร้างมาทำการก่อสร้างโกดังบรรจุมันสำปะหลังที่เป็นอาชีพของจำเลยและค่าภาษีซื้อของค่าน้ำค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ของสำนักงานจำเลย ทนายโจทก์และทนายจำเลยแถลงรับกันว่า จำเลยขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะประเภทการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดอย่างเดียว มิได้จดทะเบียนขายในประเทศจำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเอง เพียงแต่ขายให้ผู้อื่นส่งออกนอกประเทศ และยอดเงินตามฟ้องถูกต้อง ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมมีสิทธิขอภาษีคืนหรือนำไปหักในการคำนวณภาษี เว้นแต่เป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืนในกรณีใดบ้าง หาใช่บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืนเท่านั้นไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเอง เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน อันมิใช่เหตุตามบทกฎหมายดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์มีมูลหนี้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออก เป็นการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 82/3(1) ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักจากภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 81/3 ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักรผู้ประกอบการย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3โจทก์ระบุในคำฟ้องชัดเจนว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเท่านั้น แต่จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลยเพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่งจึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ก) (ที่ถูกคือมาตรา 81(1)(ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยยังยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ขอคืนภาษีซื้อด้วยเงินสดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2535 ถึงเดือนธันวาคม 2539 รวม 48 ฉบับเป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อคืนภาษีซื้อให้แก่จำเลยจำนวน2,013,736.31 บาท เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีซื้อคืน โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินดังกล่าวมาคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมคืนจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีซื้อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์คืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิได้รับภาษีซื้อดังกล่าวคืน จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงมูลหนี้และเหตุที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยแจ้งชัดแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีมีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว มีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share