แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยจำเลยไม่ทราบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำ ของจำเลยจึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิด จำเลยไม่มีความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14
คำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลสั่งจำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครองนั้น เป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคท้ายเมื่อศาลมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรานี้แล้วศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งให้ตามที่โจทก์ขอได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษารวมกัน เรียกนางแม๊ะสา ฮ่อบุตร จำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกนายเจริญ อาจพัฒน์ จำเลยสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 2
ทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าคลองจิหลาด อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยที่ 1 ครอบครอง 16 ไร่ จำเลยที่ 2 ครอบครอง 7 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 1, 14, 31 และให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนและให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้นทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองอยู่ในที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาและวินิจฉัยต่อไปว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลสั่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น คำขอของโจทก์ส่วนนี้เป็นวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคท้ายที่แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อศาลมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดตามมาตรานี้แล้ว ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งตามที่โจทก์ขอได้
พิพากษายืน