คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ของยามไว้ให้มีโทษถึงให้ออกหรือไล่ออกอันเป็นโทษสูงสุด แสดงว่าจำเลยประสงค์ให้การฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งผู้ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยก็ประสงค์ให้ยามปราศจากการมึนเมาอย่างแท้จริง จึงกำหนดไว้ในสัญญาว่ายามที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องงดเว้นการดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดหรือบกพร่องได้โดยง่ายเพราะขาดสติสัมปชัญญะ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งแก่บริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างของโจทก์ และแก่ผู้ที่ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยให้ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นยามประจำสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมิได้มีความผิด และไม่คืนเงินประกันกับไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันคนละ 500 บาท และจ่ายค่าชดเชยคนละ 1,830 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองเมาสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่และใช้ให้บุคคลอื่นปฏิบัติหน้าที่แทน สำหรับเงินประกันคนละ 500 บาท เป็นเงินค่านายหน้าหรือเงินกินเปล่าที่รับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงาน จึงไม่ต้องคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์คนละ 1,830 บาท และคืนเงินประกันให้โจทก์คนละ 500 บาท

ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง ทำความเห็นแย้งว่า จำเลยไม่ควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นยามรักษาความปลอดภัยดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่ อาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดหรือบกพร่องได้โดยง่าย เพราะขาดสติสัมปชัญญะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ทั้งแก่บริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างของโจทก์และแก่ผู้ที่ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยให้ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ของยามไว้ให้มีโทษถึงให้ออกหรือไล่ออก อันเป็นโทษขั้นสูงสุด แสดงว่าจำเลยประสงค์ให้การฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรงทั้งสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ผู้ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยก็ประสงค์ให้ยามปราศจากการมึนเมาอย่างแท้จริง จึงกำหนดไว้ในสัญญาว่ายามที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องงดเว้นการดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)

ส่วนเงินประกันนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเงินประกันนี้จำเลยจะคืนให้เมื่อโจทก์ออกจากงาน ฉะนั้น เมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยจึงต้องคืนเงินประกันให้โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share