คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3693/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในระหว่างไต่สวนคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้อง ศาลสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายตามคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่ง ศาลก็มิได้สั่งงดสืบพยานโจทก์ซึ่งได้นัดไว้แล้ว และผู้ร้องทราบนัดแล้ว โจทก์และผู้ร้องจึงต้องไปศาลตามนัดเมื่อผู้ร้องไม่ไปศาล ศาลชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอกันส่วนแล้วไม่คัดค้าน กรณีเป็นเรื่องพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ ศาลไม่จำต้องนัดสืบพยานจำเลย คำยินยอมของสามีหรือภรรยาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมกฎหมายมิได้บัญญัติให้ทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาจำเลยรับว่าหนังสือยินยอมเป็นหนังสือของผู้ร้องที่ถูกต้องแท้จริงแล้ว การที่จำเลยนำหนังสือยินยอมดังกล่าวไปใช้จดทะเบียนจำนองที่ดิน การจำนองย่อมไม่เป็นโมฆะ ผู้ร้องทำหนังสือให้ความยินยอมจำเลยซึ่งเป็นสามีทำนิติกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้จำนองรวมทั้งกิจการอื่นที่กระทำไปโดยผู้ร้องขอร่วมรับผิดชอบในนิติกรรมนั้นเสมือนผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ ถือว่าผู้ร้องยอมให้สัตยาบันหนี้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง จำนองจึงต้องผูกพันที่ดินทั้งหมดรวมทั้งส่วนของผู้ร้องด้วย

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินโฉนดที่ 2054, 2055 และ 2056 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา ของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาจำเลยที่ 3ที่ดินของจำเลยที่ 3 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเป็นสินบริคณห์ขอให้มีคำสั่งแยกสินบริคณห์ของผู้ร้องออกจากส่วนของจำเลยที่ 3หากมีการขายทอดตลาด ขอให้แบ่งให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่งด้วย โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ โดยผู้ร้องได้ให้ความยินยอม ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้องได้ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมตามหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 และจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ 2054, 2055 และ 2056 ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 3กับผู้ร้องไว้แก่โจทก์ ในระหว่างไต่สวนคำร้อง ของ ผู้ร้อง เมื่อสืบพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานผู้ร้องและนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดให้ผู้ร้องวางเงินจำนวนไม่น้อยกว่าเดือนละ 200,000 บาท ต่อศาลเป็นประกันความเสียหายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกัน 100,000 บาท ภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องวางเงินประกัน และเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ผู้ร้องและจำเลยไม่ไปศาล ศาลสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและนัดฟังคำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งเรื่องการวางเงินประกัน ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งและดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียวลับหลังผู้ร้องและจำเลย และแม้ศาลจะตัดพยานผู้ร้อง จำเลยก็มีสิทธิสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นตัดสิทธิมิให้สืบพยานจำเลย จึงเป็นการผิดระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ไว้แล้วและผู้ร้องก็ทราบนัด ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 ตุลาคม 2530 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินตามคำร้องขอของโจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็มิได้งดสืบพยานโจทก์ โจทก์และผู้ร้องจะต้องไปศาลตามนัด เมื่อผู้ร้องไม่ไปศาล ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไป จึงหาผิดระเบียบไม่ สำหรับจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องขอกันส่วนทรัพย์ของผู้ร้องให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่คัดค้าน กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ จำเลยหาเกี่ยวข้องด้วยไม่ ศาลชั้นต้นไม่นัดสืบพยานจำเลย จึงชอบแล้ว
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ได้ให้คำยินยอมในการจำนองที่ดินต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน การจำนองที่ดินเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าคำยินยอมของสามีหรือภรรยาให้อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมได้ตามกฎหมายนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน เมื่อผู้ร้องรับว่าหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 เป็นหนังสือยินยอมของผู้ร้องที่ถูกต้องแท้จริงแล้ว หนังสือยินยอมดังกล่าวก็นำไปใช้จดทะเบียนจำนองที่ดินได้ หาเป็นโมฆะไม่และตามหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.1 ผู้ร้องระบุว่าให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 3ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้อันจำนองรวม 3 โฉนด ที่ 2054,2055, 2056 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา วงเงิน5,000,000 บาท กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ กิจการใดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำไปข้าพเจ้าขอร่วมรับผิดชอบในนิติกรรมนั้นด้วย เสมือนหนึ่งข้าพเจ้าได้กระทำเองทุกประการ ดังนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องได้รับรู้ถึงหนี้สินที่จำเลยที่ 3 ได้ก่อให้เกิดขึ้น ถือได้ว่าผู้ร้องยอมให้สัตยาบันหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้อง จึงต้องผูกพันที่ดินทั้งหมดรวมทั้งส่วนของผู้ร้องด้วย”
พิพากษายืน

Share