คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามน.ส.3โจทก์จึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการเรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336แต่ก็เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ4ลักษณะ3ว่าด้วยการครอบครองต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีตามมาตรา1375 ที่ดินน.ส.3ของจำเลยมีการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแล้วน.ส.3ย่อมเป็นอันยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยรังวัดออกมาจากที่ดินน.ส.3ดังกล่าวจึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา61 โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินการที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินน.ส.3ของโจทก์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดินจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน1ปีนับแต่วันที่ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4แต่ก่อนที่จะชี้สองสถานจำเลยที่ 5 ได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสมประกิจการลงทุน จำกัด ผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 4 อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บริษัทสมประกิจการลงทุน จำกัด ได้ หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 4 แพ้คดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้หมายเรียกบริษัทสมประกิจการลงทุน จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 4 เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เรียกบริษัทสมประกิจการลงทุน จำกัด เป็นจำเลยที่ 5 และโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกนางราตรี สุวรรณโพธิ์ศรี เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วย เนื่องจากนางราตรีเป็นผู้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 โจทก์หรือจำเลยที่ 4 หรือจำเลยที่ 5 อาจฟ้องไล่เบี้ยหรือเรียกค่าทดแทนเอาแก่นางราตรีได้หากจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้หมายเรียกนางราตรีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เรียกนางราตรีเป็นจำเลยที่ 6
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดิน ยกเลิกเพิกถอนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินมีโฉนดในเขตจังหวัดระยองตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 และตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 และมีอำนาจในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 267ตำบลห้วยโป่ง (ปัจจุบันเป็นตำบลมาบตาพุด) อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง เนื้อที่ 20 ไร่เศษ ซึ่งโจทก์ทั้งสามได้ยึดถือครอบครองการทำประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวและฟ้องคดีเมื่อมีผู้มาออกโฉนดทับที่ดินโจทก์ทั้งสาม และเมื่อวันที่11 กรกฎาคม 2527 มีการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงได้ทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ 12 ไร่นั้น เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 13130 ตำบลห้วยโป่ง(ปัจจุบันตำบลมาบตาพุด) อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันรังวัดออกโฉนดที่ดินให้ผู้อื่น แล้วผู้อื่นนั้นได้จดทะเบียน โอนขายให้จำเลยที่ 4การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 13130 ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ขอให้ออกโฉนดไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินและไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินการยื่นคำขอออกโฉนด การประกาศเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่มีการระวังแนวเขต ไม่มีการรังวัด ทำให้โฉนดที่ดินเลขที่ 13130ทับที่ดินของโจทก์บางส่วนเป็นเนื้อที่ 12 ไร่เศษ ราคาประมาณ1,000,000 บาท จำเลยที่ 4 ได้ห้ามโจทก์ทั้งสามเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสาม ห้ามจำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13130ตำบลห้วยโป่ง (ปัจจุบันเป็นตำบลมาบตาพุด) อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 4 และให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่เพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ทำการออกโฉนดตามระเบียบปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกที่ดินคืนเกินกว่า 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางสมควร มะริดหรือหาศิริ มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักฐาน ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.13 เมื่อเดือนมิถุนายน 2503นางสมควรได้แบ่งขายที่ดินให้แก่นายศักดิ์ ไทยวัฒน์ เนื้อที่ 16ไร่เศษเมื่อเดือนกันยายน 2503 แบ่งขายที่ดินให้แก่นายสัมพันธ์มิลินทางกูร เนื้อที่ 20 ไร่เศษ และเมื่อเดือนธันวาคม 2503แบ่งขายที่ดินให้แก่นายตระกูล สุวรรณโพธิ์ศรี เนื้อที่ 15 ไร่เศษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม 2508 ขายให้แก่จำเลยที่ 6 เนื้อที่31 ไร่เศษ ต่อมาจำเลยที่ 6 ได้นำที่ดินแปลงที่ซื้อจากนางสมควรมาขอออกโฉนดรวม 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2512ขอออกโฉนดเนื้อที่ 15 ไร่เศษ คือโฉนดที่ดินเลขที่ 2912 ครั้งที่ 2เดือนตุลาคม 2512 ขอออกโฉนดเนื้อที่ 14 ไร่เศษ คือโฉนดเลขที่ 2913 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2516 ได้ขอออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการขอออกโฉนดไปแล้วปรากฎตามเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 68 สำนักงานที่ดินจังหวัดระยองได้ออกโฉนดให้คือโฉนดเลขที่ 13130 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 67 5/10 ตารางวาตามเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงพิพาทคดีนี้ ในการขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาท นางสงวน แตงใบอ่อน คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินทำการเปรียบเทียบ นางสงวนยอมให้จำเลยที่ 6มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยนางสงวนขอเข้าเป็นเจ้าของรวมเป็นเนื้อที่ 5 ใน 12 ส่วน ต่อมานางสงวนถึงแก่กรรม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2520 นางละเอียดและนางประดิษฐ์ แตงใบอ่อนทายาทนางสงวนขอรับมรดกเฉพาะส่วนของนางสงวนและขอแบ่งแยกโฉนดออกเป็นของจำเลยที 6 และของนางละเอียดกับนายประดิษฐ์ส่วนของนางละเอียดกับนายประดิษฐ์คือโฉนดเลขที่ 15193เนื้อที่ 5 ไร่ 1/10 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.11 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 13130 ของจำเลยที่ 6 เหลือเนื้อที่ 6 ไร่3 งาน 67 5/10 ตารางวา ที่ดินโฉนดที่พิพาทนี้ จำเลยที่ 6ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 5 เมื่อเดือนสิงหาคม 2522 ต่อมาจำเลยที่ 5ขายให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อเดือนเมษายน 2523 ปรากฎตามสารบัญจดทะเบียนในเอกสารหมาย ล.10 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524โจทก์ทั้งสามได้ยื่นเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดิน ตามเอกสารหมาย ล.14โดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 267เนื้อที่ 20 ไร่ 63 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์ซื้อมาจากนายสัมพันธ์ มิลินทางกูร เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2509มาขอออกโฉนด ช่างรัดวัดของสำนักงานที่ดินได้ไปทำการรังวัดปรากฎว่า รังวัดทับที่ดินที่มีการออกโฉนดไปแล้วตามเอกสารหมาย ล.15และ ล.16 แต่ไม่ได้ทับที่ดินแปลงพิพาท ในการขอออกโฉนดของโจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้ยื่นเรื่องราวคัดค้านการขอออกโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย ล.17 ล.18 และ ล.19เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีนี้
โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาระยะเวลาฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองซึ่งเป็นเรื่องอำนาจฟ้องมาวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกทรัพย์คืนเพราะเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการออกโฉนดจะเอาระยะเวลาในเรื่องแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375มาวินิจฉัยหาได้ไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องฟ้องโจทก์ขาดสิทธิเอาคืนซึ่งการครอบครองไว้เพราะจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 อันเป็นบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 267 หน้า 186 เล่มที่ 17 หมู่ที่ 1ตำบลห้วยโป่ง (มาบตาพุด) อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองโจทก์ทั้งสามจึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเท่านั้นแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นกรณีเป็นเรื่องการเรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครอง ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4ลักษณะ 3 และสิทธิฟ้องคดีดังกล่าวนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้กำหนดประเด็นไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย จึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสามฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ทั้งสามมีโจทก์ที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานกับมีนายฉัตรชัยตันทนงศักดิ์กุล นายเสนาะ รอดเขียว และนายน้อง พุทธเวชมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า หลังจากโจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินน.ส.3 เลขที่ 267 แล้วได้เข้าปลูกมันสำปะหลังและมะพร้าวตลอดมา โดยโจทก์มอบให้นายฉัตรชัยเป็นผู้ดูแลและเสียภาษีบำรุงท้องที่แทนตั้งแต่ต้น จนถึงปี 2526 นายฉัตรชัยสั่งให้นายน้องเป็นผู้ไปปลูกมันสำปะหลังและปลูกต้นมะพร้าวซ่อมแซมในที่ดิน ส่วนฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีจำเลยที่ 6 นำสืบว่าจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินจากนางสมควร หาศิริ เมื่อปี 2508แล้วจำเลยที่ 6 มอบให้นายชุ่มกับนางสงวนซึ่งเป็นสามีภริยาเป็นผู้ดูแลปลูกมันสำปะหลังและมะพร้าวลงในที่ดินพิพาท และต่อมาจำเลยที่ 1 นำที่ดินที่เหลือจากการออกโฉนดที่ดินครั้งแรกไปขอออกโฉนดที่ดินอีก ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 13130 อันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ ปี 2522 จำเลยที่ 6โอนขายต่อให้จำเลยที่ 5 ซึ่งข้อเท็จจริงต่อมาจำเลยที่ 5 นำสืบว่า เมื่อซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว ได้มอบให้นางประเพลินเข็มกลัด เป็นผู้ดูแลที่ดินนี้แทน ซึ่งตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 6และที่ 5 คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 6 กับนายตระกูล สุวรรณโพธิ์ศรี สามีของจำเลยที่ 6 และนายอุดม ดิษฐอำนาจ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 5 เบิกความลอย ๆ ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าจำเลยที่ 5มอบให้นางประเพลินเป็นผู้ดูแลนั้นก็ไม่ปรากฎลักษณะของการเข้าครอบครองของนางประเพลินว่าเป็นอย่างไร ทั้งที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ว่างเปล่า ส่วนที่จำเลยที่ 4 นำนายอภิสิทธิ์รุจิเกียรติกำจร ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริการเบิกความว่าหลังจากจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 5 แล้วได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว โดยเข้าไปก่อสร้างวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติสถานีควบคุมและสถานีวิทยุนั้น ก็ปรากฎว่าพยานปากนี้ไม่ระบุยืนยันชัดเจนว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปก่อสร้างวางท่อส่งก๊าซและอาคารต่าง ๆ ในที่ดินแปลงใด และจะถือว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปก่อสร้างในที่ดินทุกแปลงย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินมารวมทั้งสิ้น 5 แปลง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 45 ไร่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทสืบต่อกันมาตลอดฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์ทั้งสามฎีกาต่อไปว่า การออกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 ไม่ชอบด้วยกฎหมายในปัญหานี้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 6 นำน.ส.3เลขที่ 43 ไปขอออกโฉนดเลขที่ 2912 และ 2913 นั้น ปรากฎว่าจำนวนเนื้อที่ของที่ดินทั้ง 2 โฉนดดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วใกล้เคียงกับเนื้อที่ของที่ดินตาม น.ส.3 เดิม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 6 จะนำ น.ส.3 ดังกล่าวไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 13130 เลขที่ดิน 11 (ก่อนแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 15193)ได้เนื้อที่อีกประมาณ 12 ไร่ จำเลยที่ 6 เบิกความว่าเมื่อออกโฉนดในครั้งแรกได้ที่ดิน 2 แปลงแล้วยังปรากฎว่าเนื้อที่ดินใน น.ส.3เดิมเกินมาอีกประมาณ 12 ไร่จำเลยที่ 6 จึงได้ขอออกโฉนดอีกเป็นฉบับที่สามนั้นขัดต่อความเป็นจริงเพราะเมื่อจำเลยที่ 6 ไม่มีที่ดินเหลืออยู่อีกแล้ว จำเลยที่ 6 จะนำ น.ส.3 ฉบับเดิมไปขอออกโฉนดที่ดินใหม่ได้เนื้อที่เกือบประมาณ 12 ไร่ได้อย่างไรนอกจากนี้นายสวัสดิ์ จิตตรง พยานจำเลยยังได้เบิกความยืนยันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 13130 เลขที่ดิน 11 (ก่อนแบ่งแยก) กับที่ดินโฉนดเลขที่ 9892 น่าจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตาม น.ส.3เลขที่ 267/43 ของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินของจำเลยที่ 6 มีการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแล้ว น.ส.3 เลขที่ 43ของที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นอันยกเลิกไป โฉนดที่ดินเลขที่ 13130ซึ่งจำเลยที่ 6 รังวัดออกมาจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 43 จึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ฎีกาโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนประเด็นตามฎีกาโจทก์ทั้งสามที่ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา การที่จำเลยที่ 6 ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 13130 ทับที่ดินน.ส.3 เลขที่ 267 ของโจทก์ทั้งสาม และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาจนถึงจำเลยที่ 4 โดยมิได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่วันทีทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 6 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ขาดสิทธิฟ้องเอาซึ่งการครอบครอง และพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ว่า โจทก์ ทั้ง สาม เป็น ผู้มีสิทธิ ครอบครอง ที่ดินพิพาท ให้ เพิกถอน โฉนด ที่ดิน เลขที่ 13130 ตำบล ห้วยโป่ง(ตำบลมาบตาพุด) อำเภอเมืองระยอง จังหวัด ระยอง คำขอ อื่น นอกจาก นี้ ให้ยก

Share