คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องขอให้จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.และส. ล้มละลาย ศาลวินิจฉัยถึงที่สุดว่าส. ยังมีที่ดินอีก 11 แปลงที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.และส. ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ จำเลยจึงไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างว่าเมื่อยึดที่ดินของ ส. ที่ปลอดจำนองทั้งหมดอีก 6 แปลงแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เพียง 474,000 บาท ไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมดและจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ก็เป็นเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 6ตุลาคม 2529 ให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงิน 18,804,098.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 9,796,310.08 บาท ของต้นเงินกู้จำนวน 2,500,000 บาท ของต้นเงินตามตั๋วแลกเงินจำนวน 999,936 บาท และของต้นเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยกับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอหมายบังคับคดีและยึดทรัพย์สินของจำเลยกับพวกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้เพียงบางส่วน คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น14,281,382.07 บาท จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้และจำเลยได้หลบหนีไปจากเคหะสถานที่เคยอยู่อาศัยเพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ พฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในมูลหนี้เดียวกัน ทั้งคดีขาดอายุความแล้วเพราะฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยมีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวโจทก์ไม่เคยแจ้งหรือบอกกล่าวให้จำเลยทราบเกี่ยวกับหนี้สินไม่ต่ำกว่าสองครั้งและแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งจำนวนหนี้ตามฟ้องก็มีจำนวนไม่แน่นอนขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการ และนายสุพัฒน์ เลาหพูนรังษีเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529ของศาลจังหวัดสีคิ้วเป็นเงิน 18,804,098.41 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำยึดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ในคราวแรกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วนจำนวน 40,673,720 บาท และนำยึดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ในคราวที่สองขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้105,895 บาท แต่จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ยังเป็นหนี้โจทก์ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 อยู่อีก 10,821,675 บาทตามสำเนาบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ให้ล้มละลายตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว แต่ศาลจังหวัดสีคิ้วพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.1 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำยึดที่ดินของนายสุพัฒน์อีก 2 แปลง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 474,000 บาท ขณะอยู่ระหว่างการประกาศขายทอดตลาด โจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเป็นคดีนี้อีกโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ของศาลจังหวัดสีคิ้วหรือไม่ เห็นว่า ในคดีล้มละลายศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ประเด็นพิพาทในคดีจึงมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสีคิ้ว คดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ว่า โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529 ของศาลจังหวัดสีคิ้วมาฟ้องขอให้จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ล้มละลายแต่ศาลจังหวัดสีคิ้วได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า นายสุพัฒน์ยังมีที่ดินอีก11 แปลง ที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเหล่าถาวรบริการและนายสุพัฒน์ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ จำเลยจึงไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างว่าเมื่อได้ยึดที่ดินของนายสุพัฒน์ที่ปลอดจำนองทั้งหมดอีก 6 แปลงแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เพียง474,000 บาท ไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมด และจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็เป็นเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อนดังนี้ เมื่อคู่ความในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ดังกล่าวกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเดียวกัน และเหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็เป็นมูลเหตุเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลจังหวัดสีคิ้วได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วในคดีดังกล่าว จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2537 ของศาลจังหวัดสีคิ้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share