แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามคู่มือพนักงานของบริษัทจำเลย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ได้ออกข้อกำหนดห้ามพนักงานประกอบหรือร่วมกับบุคคลอื่นประกอบธุรกิจที่บริษัทจำเลยได้กระทำอยู่ และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัทจำเลยไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกเวลาปฏิบัติงานของบริษัทจำเลย ก็ตาม หรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม พนักงานซึ่งกระทำการดังกล่าวก็ย่อมมีความผิดทั้งสิ้น กรณีคงมีข้อยกเว้นให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยเพียงประการเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานจำเลยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบผลไม้แช่แข็ง กับห้างอื่น อันเป็นธุรกิจที่บริษัทจำเลยประกอบอยู่และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัทจำเลย โจทก์ก็ย่อมมีความผิดตามคู่มือพนักงานอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว การที่บริษัทจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าในระหว่างเวลาทำงานของจำเลย โจทก์ได้ร่วมประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า กับไม่จ่ายค่าชดเชยและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และเงินรางวัลปลอบใจพนักงานในการทำงานประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และเงินรางวัล พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกโดยยกเอาคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยขึ้นอ้างประกอบกับเหตุผลต่าง ๆ หลายประการ แล้วอ้างว่าน่าเชื่อว่าโจทก์ได้รายงานเรื่องการผลิตมังคุดปาดแช่แข็งให้นายสมชาย พัฒนวณิชย์กุลผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทราบแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์กล่าวลอย ๆ ขาดหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยไม่ประสงค์จะรับทำมังคุดปาดแช่แข็งให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดมารูไทย จึงฟังไม่ขึ้น โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อต่อไปว่า จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดมารูไทยประกอบธุรกิจการค้าอันมีลักษณะแตกต่างกัน โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดมารูไทย เป็นตัวแทนหรือนายหน้าส่งผลไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่นไม่เคยผลิตผลไม้แช่แข็งเช่นจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการประกอบธุรกิจหรือมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจกรรมของจำเลย โจทก์จึงไม่มีความผิดนั้นเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางโดยโจทก์ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ เช่นนี้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 55 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามคู่มือพนักงาน เอกสารหมายล.1 ข้อ 5.13 ทั้งสองวรรคได้ระบุห้ามมิให้พนักงานประกอบธุรกิจหรือมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจในเวลาปฏิบัติงานของจำเลยเท่านั้น โจทก์ช่วยเหลือหาซื้อมังคุดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมารูไทย นอกเวลาทำงานปกติของจำเลยและการที่โจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราร้อยละห้าของมูลค่าสินค้าก่อนผลิตก็เป็นเพียงการตอบแทนค่าแรง ค่าพาหนะ มิใช่เป็นการแบ่งผลกำไร เช่นการเข้าหุ้นส่วนประกอบธุรกิจ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจตามความหมายของคู่มือพนักงาน เอกสารหมายล.1 ข้อ 5.13 วรรคสองแต่อย่างใด การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่เป็นธรรมพิเคราะห์แล้วตามคู่มือพนักงานของจำเลย เอกสารหมายล.1 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยได้มีความในบทที่ 5 ระเบียบข้อบังคับของพนักงาน ข้อ 5 วินัยและข้อบังคับ กำหนดไว้ให้ลูกจ้างของจำเลยพึงปฏิบัติหลายประการโดยเฉพาะในข้อ 5.13 กำหนดว่า “ในระหว่างเวลาปฏิบัติงานของบริษัทฯ ห้ามพนักงานร่วมในกิจการของธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจ และหรือมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทฯ การยกเว้นทั้งสองกรณีดังระบุข้างต้นจะต้องได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ”
ศาลฎีกาเห็นว่า ความในวรรคแรกมีความหมายว่าจำเลยได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้พนักงานของจำเลยเข้าไปร่วมกระทำกิจการในธุรกิจอันหนึ่งอันใดซึ่งเป็นธุรกิจที่มิใช่ของจำเลยในระหว่างเวลาปฏิบัติงานตามที่จำเลยได้กำหนดไว้ โดยไม่พึงต้องคำนึงว่าธุรกิจนั้นจะเป็นธุรกิจเช่นเดียวกันกับที่จำเลยประกอบอยู่หรือไม่ และไม่ต้องคำนึงว่าพนักงานของจำเลยจะได้รับค่าตอบแทนจากการนั้นหรือไม่ พนักงานของจำเลยซึ่งกระทำการดังกล่าวก็มีความผิดแล้ว ส่วนความในวรรคสองมีความหมายว่า พนักงานของจำเลยจะประกอบหรือร่วมกับบุคคลอื่นประกอบธุรกิจที่จำเลยได้กระทำอยู่ และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลย ไม่ว่าจะได้กระทำในเวลาหรือนอกเวลาปฏิบัติงานของจำเลยก็ตาม หรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม พนักงานของจำเลยซึ่งกระทำการดังกล่าวก็ย่อมมีความผิดทั้งสิ้นกรณีคงมีข้อยกเว้นให้พนักงานของจำเลยกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยเพียงประการเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบผลไม้แช่แข็งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดมารูไทย อันเป็นธุรกิจที่จำเลยประกอบอยู่และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลยตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง โจทก์ก็ย่อมมีความผิดตามคู่มือพนักงาน บทที่ 5 ระเบียบข้อบังคับของพนักงาน ข้อ 5.13อันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานพิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับค่าเสียหายให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน