แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีป้ายตามกฎหมายแต่ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีป้ายของโจทก์ที่กระทำต่อจำเลยในกรณีที่ ตรวจพบว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมซึ่งจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วอันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายอีกในป้ายเดียวกัน กลับไม่มี รายละเอียดแสดงขั้นตอนนับแต่ บ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลง แก้ไขป้ายเดิมว่าเหตุใดจึงตรวจพบ ไม่มีรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือ ขออนุมัติไปตรวจสอบและเมื่อตรวจสอบแล้วก็หามีรายงานเสนอต่อ ผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังกล่าวนี้ไม่เป็นการผิดปกติวิสัยของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดเก็บภาษีป้ายในกรณีที่ผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสองแห่ง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้าย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 9 บังคับให้เจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ แต่จำเลยมิได้ยื่นแบบดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีป้ายเช่นเดียวกับกรณีปกติและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือให้เจ้าของป้ายทราบตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบด้วยมาตรา 29 เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำมาสืบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีป้ายของจำเลยสำหรับกรณีที่ จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิม พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ย่อม ไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือแจ้งการประเมินอันเป็นการข้ามขั้นตอน ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ส่งหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ไปยังจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้มีการประเมิน ให้จำเลยเสียภาษีป้าย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียภาษีป้าย แม้ว่า จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจะถือว่าจำเลยยอมรับ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 การที่ศาลภาษีอากรพิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานั้นแล้ว วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการ ประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีที่จำเลย เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้ทำการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระภาษีป้ายส่วนที่จำเลย ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของป้ายโฆษณาหมู่บ้านวรารมย์ ตั้งอยู่หมู่ 2 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลูเขตตลิ่งชัน (ที่ถูกเขตหนองแขม) กรุงเทพมหานคร มีข้อความเป็นอักษรไทยปนเครื่องหมาย ขนาดกว้าง 1,000 เซนติเมตร ยาว 2,500 เซนติเมตร ทั้งสองด้านของป้าย คิดเป็นเนื้อที่ป้าย 5,000,000 ตารางเซนติเมตร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม2540 จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี 2540 (ภ.ป.1) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหนองแขมเพื่อเสียภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และแจ้งการประเมินแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2540 ตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ กท 9022/543 ลงวันที่ 2 เมษายน 2540 ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายให้มีข้อความภาษาอังกฤษปนด้วยโดยมีขนาดคงเดิม ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นตามบัญชีอัตราภาษีป้ายเป็นห้าร้อยตารางเซนติเมตรต่อ 40 บาทแต่จำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน15 วัน นับแต่วันที่แสดงป้ายที่แก้ไขใหม่แทนป้ายเดิม พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งการประเมินเพิ่มเติมจำนวน 200,000 บาท แก่จำเลย ตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ กท 9022/1086 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2540 จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2540 แต่จำเลยไม่ชำระภาษีป้ายแก่โจทก์ภายใน15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีป้ายที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินรวมเป็นภาษีป้ายที่จำเลยต้องชำระถึงวันฟ้องจำนวน 608,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 608,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินค่าภาษี 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีป้ายจำนวน200,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องให้จำเลยรับผิดไม่เกิน 108,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระภาษีป้ายส่วนที่จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นได้หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2540 โดยโจทก์มีนางเบญจะ สวาสดิ์พันธ์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบ เร่งรัดการจัดเก็บภาษีป้ายในเขตของสำนักงานเขตหนองแขม เป็นพยานเบิกความว่าตรวจสอบพบจำเลยเปลี่ยนแปลงป้ายโฆษณาใหม่ โดยแก้ไขข้อความจากเดิมที่เป็นภาษาไทยปนเครื่องหมายเป็นข้อความภาษาไทยปนภาษาอังกฤษและเครื่องหมายส่วนขนาดยังคงเดิมและถ่ายรูปไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 ภาพที่ 2และจำเลยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเพื่อขอเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายที่เปลี่ยนแปลงใหม่นี้ จำเลยต้องเสียภาษีป้ายทั้งปีเป็นเงิน 400,000 บาท เพราะมีภาษาอังกฤษปนภาษาไทยในป้ายด้วย แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายสำหรับป้ายโฆษณาเดิมที่จำเลยยื่นแบบไว้เป็นภาษีป้าย 200,000 บาท แล้วจำเลยจึงต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท ได้ทำรายงานการประเมินเสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นชอบแล้ว และแจ้งการประเมินแก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจำเลยได้รับเมื่อเดือนมิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2และ 3 นางเบญจะได้เบิกความยืนยันถึงกระบวนการในการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายที่เปลี่ยนแปลงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางเบญจะซึ่งเป็นพยานโจทก์เพียงปากเดียวคงได้ความเพียงว่า จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิม ทั้งนี้ เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีป้ายตามกฎหมาย แต่ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีป้ายของโจทก์ที่กระทำต่อจำเลย ในกรณีที่ตรวจพบว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมซึ่งจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้ว อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายอีกในป้ายเดียวกันกลับไม่มีรายละเอียดแสดงขั้นตอนนับแต่นางเบญจะตรวจสอบพบว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมว่าเหตุใดนางเบญจะจึงตรวจพบ ไม่มีรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือขออนุมัติไปตรวจสอบและเมื่อตรวจสอบแล้วรวมทั้งถ่ายรูปไว้ด้วยตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 ภาพที่ 2 ก็หามีรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังกล่าวนี้ไม่ อันผิดปกติวิสัยของการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดเก็บภาษีป้ายในกรณีที่ผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความเช่นนี้ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้าย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 9 บังคับให้เจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ แต่จำเลยมิได้ยื่นแบบดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีป้ายเช่นเดียวกับกรณีปกติและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือให้เจ้าของป้ายทราบตามพระราชบัญญัติป้ายพ.ศ. 2510 มาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบด้วยมาตรา 29 กรณีการแจ้งการประเมินนี้ นางเบญจะเบิกความว่า ได้ทำรายงานการประเมินเสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นชอบและแจ้งการประเมินแก่จำเลยแล้ว แต่ในการสืบพยานของโจทก์ โจทก์กลับไม่นำรายงานของนางเบญจะที่เสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาสนับสนุนคำเบิกความของนางเบญจะ ศาลภาษีอากรกลางจึงวินิจฉัยว่าไม่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายสำหรับป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งว่า ในการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายมีวิธีการประเมินเรียกเก็บ 2 วิธี คือการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย และกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายไม่ยื่นแบบในกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายจะมีรายละเอียดของการคิดคำนวณและการอนุมัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบเช่นตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเช่นกรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายนั้น รายละเอียดของการคิดคำนวณภาษีและการอนุมัติของพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการภายในมักจะมิได้ทำหลักฐานอย่างเป็นทางการ เพราะถึงอย่างไรการคิดคำนวณภาษีป้ายจะต้องคิดคำนวณตามอัตราที่กำหนด ส่วนการอนุมัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการเป็นการภายในมิได้ทำหลักฐานไว้เป็นทางการเช่นกัน เพราะหลังจากอนุมัติแล้วจะต้องส่งแบบแจ้งการประเมินให้ผู้เสียภาษีทราบ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินจะต้องลงนามในแบบแจ้งการประเมินที่มียอดภาษีที่ผู้เสียภาษีจะต้องชำระอยู่ด้วย เห็นว่า กรณีที่เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) แสดงว่าเจ้าของป้ายยินยอมที่จะเสียภาษีป้ายตามกฎหมายและเป็นผู้กรอกแบบด้วยตนเอง และทราบรายละเอียดของแบบได้ดีว่ามีทั้งรายการประเภทป้าย ขนาดป้าย เนื้อที่ป้าย จำนวนป้าย ข้อความหรือภาพหรือเครื่องหมายที่ปรากฏในป้าย และสถานที่ติดตั้งป้ายซึ่งเจ้าของป้ายจะต้องระบุไว้ในแบบ รายละเอียดส่วนนี้อยู่หน้าแรกของแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ส่วนหน้าหลังมีรายละเอียดแสดงถึงขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยบันทึกการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รายการประเมินภาษีป้ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ คำขอชำระภาษีของผู้ขอชำระภาษีป้าย รายการรับชำระภาษีป้ายและช่องบันทึกเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ในขณะที่เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย(ภ.ป.1) อาจทราบเลยว่าตนต้องเสียภาษีป้ายเท่าใด หรืออาจทราบในภายหลังเนื่องจากเจ้าหน้าที่จำต้องไปตรวจสอบว่าป้ายตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) เป็นป้ายประเภทใด มีขนาดกว้างยาวเท่าใดและพื้นที่กี่ตารางเซนติเมตรมีข้อความ ภาพหรือเครื่องหมายอย่างไรเพราะมีอัตราภาษีป้ายแตกต่างกันตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 5 ซึ่งจะต้องมีบันทึกรายละเอียดการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และรายงานการปฏิบัติงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาเพื่อประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินให้เจ้าของป้ายทราบตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510มาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534มาตรา 10 แต่กรณีของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยทราบการประเมินภาษีป้ายในวันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) คือวันที่ 31 มีนาคม 2540แล้ว โดยได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องคำขอชำระภาษี และแม้ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้มีหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ให้จำเลยทราบอีกอันเป็นไปตามมาตรา 17 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่บังคับว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วต้องแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย ซึ่งก็เห็นได้ว่าแม้แต่กรณีที่เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) กฎหมายยังได้กำหนดขั้นตอนไว้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผู้เสียภาษีทราบชัดแจ้งว่าตนจะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใด แต่กรณีที่เจ้าของป้ายเดิมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายอันเป็นเหตุให้ตนต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นอีกในปีเดียวกันนั้นถือว่าเป็นภาระแก่เจ้าของป้าย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังมีความชัดเจนในการปฏิบัติงานนับแต่ตรวจสอบคิดคำนวณภาษีป้ายและทำการประเมิน แม้ว่าจะกระทำเป็นการภายในก็ต้องได้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอตามลำดับขั้นตอนจนถึงขั้นสุดท้ายคือแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ เพราะหากจำเลยเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะขอตรวจดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายได้ ข้อที่โจทก์อ้างว่ากรณีเช่นนี้มักจะมิได้ทำหลักฐานอย่างเป็นทางการ ส่วนการอนุมัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการภายในมิได้ทำหลักฐานไว้เป็นทางการเช่นกันนับว่าไม่สอดคล้องกับระบบการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั่วไปไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าเป็นเช่นนั้น และขัดแย้งกับคำเบิกความของนางเบญจะพยานโจทก์ที่เบิกความว่าได้ทำรายงานการประเมินเสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นชอบด้วย แต่ในการสืบพยานของโจทก์ก็หามีเอกสารการรายงานและความเห็นชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่มาแสดงให้เห็นแต่อย่างใดไม่ และแม้แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ให้ความเห็นชอบและแจ้งการประเมิน โจทก์ก็มิได้นำมาเบิกความสนับสนุนกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีการประเมินในกรณีนี้ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมากกว่าในกรณีแรกซึ่งจำเลยทราบการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่แล้วในวันยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) พยานหลักฐานโจทก์ที่นำมาสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีป้ายของจำเลยสำหรับกรณีที่จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิม และเมื่อไม่มีการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือแจ้งการประเมินอันเป็นการข้ามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ส่งหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3)ไปยังจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือแจ้งการประเมินสำหรับกรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิม ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเดิมเท่าใด เพราะเหตุใด ซึ่งย่อมต้องแตกต่างจากการประเมินภาษีป้ายของจำเลยในกรณีแรกที่จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ดังที่บัญญัติไว้มาตรา 14และ 15 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ฉบับนี้มีข้อความเหมือนกันกับหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินแก่จำเลยกรณีที่จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 คงแตกต่างเฉพาะเลขหนังสือแจ้ง วันที่เดือนปีที่ออกหนังสือ และช่องที่แจ้งจำเลยมีระบุข้อความแตกต่างกันเล็กน้อยอันเป็นข้อสนับสนุนอยู่ในตัวว่าไม่มีการประเมินสำหรับกรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมนั้นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินนั้น เห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้มีการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้าย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียภาษีป้าย แม้ว่าคดีนี้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กล่าวคือศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยศาลอาจสืบพยานตามที่เห็นว่าจำเป็นอันเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานั้นแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้ทำการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีดังกล่าว แม้ต่อมาจะมีการแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยชำระภาษีป้ายเพิ่มและจำเลยได้รับแล้วก็ตาม ก็หาถือว่าเป็นการประเมินและแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ การฟ้องของโจทก์ในกรณีนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระภาษีป้ายส่วนที่จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นได้”
พิพากษายืน