แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้มีเงินได้สามารถนำบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ไปหักลดหย่อนจากเงินได้พึงประเมินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 เพราะกฎหมายมุ่งหมายที่จะบรรเทาภาระภาษีให้แก่คู่สมรสซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกันสำหรับภริยาที่มีเงินได้และแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) นั้น มาตรา 57 เบญจ วรรคสอง (2) กำหนดให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้สำหรับบุตรที่หักลดหย่อนได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 47(1)(ค)และ(ฉ) คนละกึ่งหนึ่ง ปรากฏว่าในปีภาษีที่พิพาท โจทก์และ อ. เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายและต่างก็มีเงินได้ โดย อ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้แบบ ภ.ง.ด. 91 ตามมาตรา 40(1) โจทก์และ อ. จึงต่างมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรทั้งสามซึ่งเกิดจากภริยาเดิมของโจทก์ได้คนละกึ่งหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,054 บาท โดยอ้างว่าโจทก์คำนวณภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนเนื่องจากโจทก์หักลดหย่อนบุตรไม่ถูกต้อง โดยโจทก์และภริยาต้องหักลดหย่อนบุตรได้คนละครึ่ง ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะบุตรโจทก์ทั้ง 3 คน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรและของภริยาเดิมของโจทก์ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับภริยาซึ่งมิใช่ภริยาคนเดิม บุตรของโจทก์ทั้งสามคนจึงไม่ใช่บุตรโดยชอบกฎหมายของภริยาโจทก์ที่จดทะเบียนสมรสและภริยาโจทก์ดังกล่าวก็ไม่อาจใช้อำนาจปกครองบุตร หรือมีสิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย นอกจากนี้ก็มิได้เป็นผู้เลี้ยงดูหรือสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์แต่อย่างใด เพราะอยู่คนละบ้าน การให้ภริยาโจทก์ที่จดทะเบียนสมรสมีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และถ้าหากภริยาเดิมของโจทก์ได้นำค่าลดหย่อนบุตรไปหักลดหย่อนอีกก็จะเป็นการซ้ำซ้อน โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยต่อมาให้ยกอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วแต่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน เลขที่ 02007260/1/100892 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 7260/ฝ.4/5/42/37 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2541
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบ ภ.ง.ด.91) สำหรับปี พ.ศ. 2540 โดยระบุว่าคู่สมรสของโจทก์มีเงินได้แยกยื่นแบบแยกคำนวณ แต่โจทก์ได้หักลดหย่อนบุตรของโจทก์ทั้ง 3 คน เต็มเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 51,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 กำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีมาหักค่าลดหย่อนได้และหากต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ให้ต่างฝ่ายต่างหักได้กึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกรณี ดังนั้น ภริยาของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับบุตรของโจทก์ซึ่งเป็นสามีของตนและภริยาโจทก์ดังกล่าวมีเงินได้เช่นเดียวกับโจทก์ โจทก์และภริยาโจทก์จึงต้องหักลดหย่อนฝ่ายละกึ่งหนึ่ง การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรทั้งสามคนที่โจทก์จดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายแล้ว เต็มจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดหรือหักลดหย่อนได้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น เห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 47 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้ (1) หักลดหย่อนสำหรับ (ก) (ข) (ค) บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือของภริยาผู้มีเงินได้ด้วย ฯลฯ” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้มีเงินได้สามารถนำบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ไปหักลดหย่อนจากเงินได้พึงประเมินได้เพราะกฎหมายมีความมุ่งหมายที่จะบรรเทาภาระภาษีให้แก่คู่สมรสซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน สำหรับกรณีที่ภริยามีเงินได้และแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) นั้นมาตรา 57 เบญจ วรรคสอง (2) บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้สำหรับบุตรที่หักลดหย่อนได้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 47(1)(ค) และ (ฉ) คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในปีภาษีที่พิพาท โจทก์และนางอุไรเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายและต่างก็มีเงินได้ โดยภริยาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้แบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 20 ทั้งโจทก์และนางอุไรจึงต่างมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรทั้งสามของโจทก์ คนละกึ่งหนึ่งตามกฎหมายดังกล่าวส่วนภริยาเดิมของโจทก์ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส แต่ก็เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรทั้งสามของโจทก์นั้น หากเป็นผู้มีเงินได้ก็สามารถหักลดหย่อนสำหรับบุตรทั้งสามได้หากเข้าหลักเกณฑ์ตามที่มาตรา 47(1)(ค) กำหนดไว้ เพราะสิทธิที่จะหักลดหย่อนตามมาตรา 47 ดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีเงินได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้ จึงมิใช่เป็นการลดหย่อนซ้ำซ้อนตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด การที่โจทก์อ้างว่ากฎหมายบังคับให้โจทก์หักลดหย่อนบุตรได้เพียงกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดไว้เป็นการบั่นทอนสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่แต่เดิมและทำให้โจทก์มีภาระเพิ่มขึ้นคือ ก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางอุไรโจทก์มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรทั้งสามได้เต็มจำนวน แต่เมื่อจดทะเบียนแล้วจะต้องหักลดหย่อนได้เพียงกึ่งหนึ่ง ทำให้โจทก์ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มขึ้น เห็นว่า แม้โจทก์จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นก็จริง แต่คู่สมรสของโจทก์คือนางอุไรก็หักลดหย่อนได้เพิ่มขึ้น อันเป็นการบรรเทาภาระของครอบครัวโจทก์เช่นกัน บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน