แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดขั้นต่ำคนละ 2 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษากรณีเป็นเรื่องกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121เว้นแต่ (3) ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมตามมาตรา 105 มีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปีจึงจะอุทธรณ์ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งจำเลยที่ 4 ไปฝึกและอบรมขั้นต่ำ 2 ปีและขั้นสูง 4 ปี มิใช่การส่งไปกักและอบรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯมาตรา 121(3) ข้อยกเว้นดังกล่าว ในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการ อนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 จึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ และศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับพิจารณาและมีคำพิพากษาคดีจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 276 วรรคสอง, 283 (ที่ถูก 285)
จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง, 284 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีอายุ16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 และ 75 ประกอบมาตรา 53 ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราจำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 26 ปี จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุกคนละ 13 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2), 105 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ส่วนจำเลยที่ 6 ให้ส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกำหนดขั้นต่ำคนละ 2 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันพิพากษา
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือส่งจำเลยที่ 4 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ส่งตัวจำเลยที่ 4 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราชนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยที่ 4 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกำหนดขั้นต่ำคนละ 2 ปี ขั้นสูงคนละ4 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์เว้นแต่ (3) ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมตามมาตรา 105 มีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปี จึงจะอุทธรณ์ได้ แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งจำเลยที่ 4 ไปฝึกและอบรมขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 4 ปี จึงมิใช่การส่งไปกักและอบรมตามข้อยกเว้นดังกล่าว ในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ดังนั้น จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 4อุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ไว้ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับพิจารณาและมีคำพิพากษาคดี จึงไม่ชอบ และจำเลยที่ 4ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 4 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น