คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6987/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนปริมาณ 0.589 กรัม เกินปริมาณรัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง และเมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีผลเป็นเพียงให้เมทแอมเฟตามีนถูกเพิกถอนจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เท่านั้น โดยไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้นจำเลยจึงยังมีความผิดและต้องรับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอยู่ ส่วนจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย คือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 33 เม็ด น้ำหนัก 2.67 กรัม มีปริมาณเมทแอมเฟตามีน 0.589 กรัมเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครองกับเสพเมทแอมเฟตามีนโดยวิธีสูดเข้าร่างกายและมีกัญชา 1 ห่อ น้ำหนัก 0.78 กรัม ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 11, 62, 62 ตรี, 106, 106 ทวิ, 106 ตรี, 116 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 26, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 26 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 76 วรรคหนึ่ง และ 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองให้จำคุก 3 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 4 ปี3 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 10 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 เรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 15, 26 วรรคหนึ่ง, 67 และ 76 วรรคหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 3 ปี 3 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน คืนขวดแก้วใสสายยางเล็กและท่อเหล็กแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย นายมนัส รอดนารี นายอนันต์ ศักดิ์สุภาพ และนายนุกูล สิงห์โต และยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 33 เม็ด น้ำหนัก 2.67 กรัม มีปริมาณเมทแอมเฟตามีน 0.589 กรัม กัญชา 1 ห่อ น้ำหนัก 0.78 กรัม เป็นของกลาง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณ 0.589 กรัม เกินปริมาณรัฐมนตรีประกาศกำหนดและกัญชาของกลางไว้ในครอบครองจริง ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

สำหรับฎีกาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า การที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ เป็นเหตุให้เมทแอมเฟตามีนไม่อยู่ในกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ในทุกประเภทต่อไป และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีผลให้จำเลยไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 นั้น มีผลเป็นเพียงให้เมทแอมเฟตามีนถูกเพิกถอนจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ที่ 1 เท่านั้น โดยไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้นจำเลยจึงยังมีความผิดและต้องรับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอยู่ แต่จะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิดซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทมีระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิด ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท จึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณ ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายยกเลิกความผิดดังที่จำเลยอ้าง

พิพากษายืน

Share