คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อการผลิตรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มีกระบวนการตั้งแต่การขึ้นรูปตัวถังรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ การประกอบรถยนต์ เช่น การประกอบตัวถังรถยนต์ การประกอบเครื่องยนต์ไปจนถึงการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ต่าง ๆ ในขั้นสุดท้ายจนเป็นรถยนต์สำเร็จรูป จากนั้นทำการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์เพื่อให้รถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานรถยนต์ของจำเลยที่ 1 รวมถึงการจัดเก็บรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรอการขนส่งไปจัดจำหน่ายต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต การที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดทำหน้าที่ล้างรถ เคลือบฟิล์มกันกระแทก ขับรถเข้าเก็บไว้ในโกดังสินค้า ทำการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ด้วยสายตาและบันทึกการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ตามตารางสรุปรายละเอียดลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด การทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จึงถือเป็นขั้นตอนอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตรถยนต์ซึ่งอยู่ในความหมายของมาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงทำงานในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแรงงานภาค 1 ยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติแตกต่างจากลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดหรือไม่ อย่างไร จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

คดีทั้งสิบเจ็ดสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 229/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 234/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 238/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 241/2558 ของศาลแรงงานภาค 1 โดยเรียกโจทก์ในคดีดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 4 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 16 กับเรียกโจทก์ในคดีทั้งสิบเจ็ดสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 21 แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 4 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 16 ยุติไปแล้วตามคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลแรงงานภาค 1 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสิบเจ็ดสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการตามจำนวนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 จัดให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานส่งมอบรถยนต์ใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่พนักงานเคลือบฟิล์ม โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทำหน้าที่พนักงานขับรถที่ทำการตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้วไปจอด ณ สถานที่ที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้ โจทก์ที่ 8 และที่ 18 ถึงที่ 20 ทำหน้าที่พนักงานล้างรถหลังจากที่คนขับรถจอดรถและลงจากรถและให้พนักงานตรวจสอบหลังจากนั้นจะทำการฉีดน้ำและใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ โจทก์ที่ 10 ถึงที่ 12 ทำหน้าที่พนักงานล้างรถหลังจากพนักงานตรวจสอบจุด RE – PDI และพนักงานขับรถขับเข้าช่องทำความสะอาดแล้วโจทก์ที่ 10 ถึงที่ 12 จะทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเข้าสู่การตรวจสอบคุณภาพ โจทก์ที่ 7 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 17 ทำหน้าที่พนักงานตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ประกอบเสร็จแล้ว และโจทก์ที่ 21 ทำหน้าที่พนักงานบันทึกข้อมูล ทำการตรวจสอบคุณภาพภายนอกของรถยนต์เป็นขั้นตอนสุดท้าย เห็นได้ว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นขั้นตอนในช่วงเวลาหลังจากที่มีการประกอบตัวถังและอุปกรณ์รถยนต์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผลิตรถยนต์สำเร็จแล้ว โดยเป็นการเคลือบฟิล์มกันกระแทก การขับรถเข้าเก็บในโกดังสินค้า การตรวจสอบคุณภาพภายนอกของรถยนต์ที่มีการประกอบเสร็จสิ้นแล้ว การล้างรถและทำความสะอาดรถยนต์ที่ประกอบเสร็จสิ้น รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพภายนอกของรถยนต์ในขั้นตอนสุดท้าย ลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตในธุรกิจของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ตามหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการประกอบกิจการอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์รวมทั้งอะไหล่ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการติดเคลือบฟิล์มกันกระแทกรถยนต์ การทำความสะอาดรถยนต์และการขับรถยนต์ที่ประกอบเสร็จสิ้นแล้วไปจอดไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่มาทำงานในสำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในเรื่องดังกล่าวที่จะให้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการค้างจ่ายจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด อีกต่อไป สำหรับค่าจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดรับว่าจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการให้ตามฟ้องครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 อีก
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสิบเจ็ดอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 มิได้บัญญัติเพียงว่า ลูกจ้างต้องทำงานเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในธุรกิจของผู้ประกอบกิจการด้วย ลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในธุรกิจของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงถือว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นเมื่อการผลิตรถยนต์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มีกระบวนการตั้งแต่การขึ้นรูปตัวถังรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์รถยนต์ การประกอบรถยนต์ เช่น การประกอบตัวถังรถยนต์ การประกอบเครื่องยนต์ ไปจนถึงการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ต่าง ๆ ในขั้นสุดท้ายจนเป็นรถยนต์สำเร็จรูป จากนั้นทำการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์เพื่อให้รถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานรถยนต์ของโจทก์ รวมถึงการจัดเก็บรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรอการขนส่งไปจัดจำหน่ายต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต การที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดทำหน้าที่การล้างรถ เคลือบฟิล์มกันกระแทก ขับรถเข้าเก็บไว้ในโกดังสินค้า ทำการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ด้วยสายตาและบันทึกการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ตามตารางสรุปรายละเอียดลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดท้ายคำแถลงการณ์เปิดคดีของจำเลยทั้งสอง การทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จึงถือเป็นขั้นตอนอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตรถยนต์ซึ่งอยู่ในความหมายของมาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงทำงานในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดในส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแรงงานภาค 1 ยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติแตกต่างจากลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดหรือไม่อย่างไร จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเสียก่อน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1 ให้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นลักษณะงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดเมื่อเปรียบเทียบกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ว่ามีลักษณะเดียวกันหรือไม่และได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share