แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามคำสั่งศาลนั้นจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลสูงสุดในการประมูลครั้งนั้นต่ำไป เป็นราคาที่ไม่สมควร หรือควรที่จะได้ราคาสูงกว่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์พิพาทไว้เป็นเงิน186,025 บาท แต่ทรัพย์พิพาทอยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์และอยู่ในทำเลที่ดิน แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะกำหนดราคาประเมินทรัพย์พิพาทไว้จำนวน 123,320 บาท แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษี จึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริงทั้งทรัพย์พิพาททำประโยชน์แล้วโดยทำสวนยางมีต้นยางพารา ปลูกเต็มพื้นที่ และสามารถกรีดยางได้แล้ว ดังนั้นขณะขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงควรตั้งราคาขายขั้นต่ำเท่ากับราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้ผู้คัดค้านไปในราคาเพียง 150,000 บาททั้งที่เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรก และมีผู้ซื้อเพียงรายเดียวโดยไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรีบด่วนขายไปในราคานี้ การขายทอดตลาดจึงส่อไปในทางรวบรัดและหากมีการ ประกาศขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าได้ เมื่อการอนุญาตให้ขาย ของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด ย่อมเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนมาตรา 513 ประกอบมาตรา 308 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่ศาลจะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกัน นายประกันย่อมตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และผู้เป็นเจ้าหนี้คือแผ่นดิน แผ่นดินย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับชำระเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ยังไม่ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระเงิน เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งเงินค่าปรับที่ได้จากการขายทอดตลาด และจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายให้ศาลชั้นต้น เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดินเมื่อเวลา 15 นาฬิกา โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันเดียวกันเวลา 9.30 นาฬิกา จึงเป็นการยื่นคำร้องก่อนเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ถือได้ว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง และผู้ร้องเพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538จึงไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์แห่งการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนี้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายสุภรณ์หรืออิ้วไชยฤกษ์ จำเลยฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายวิรัตน์ทองรักจันทร์ นายจันยา เกษรบัว และนายเขียว จันทร์ดำร่วมกันยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536ศาลชั้นต้นอนุญาต ตีราคาประกัน 250,000 บาท ต่อมาผู้ประกันทั้งสามผิดสัญญา ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันทั้งสามตามสัญญา ผู้ประกันไม่นำเงินมาชำระ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามคำร้องของพนักงานอัยการ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ผู้ประกันทั้งสามนำมาวางเป็นหลักประกันเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 คือ น.ส.3 เลขที่ 468 น.ส.3 เลขที่ 20 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 853 ของนายเขียว จันทร์คำน.ส.3 ก. เลขที่ 3773 ของนายจันยา เกษรบัว และ น.ส.3เลขที่ 434 (433/11) ตำบลชะอวด อำเภอชะอวดจังหวัดนครศรีธรรมราช ของนายวิรัตน์ ทองรักจันทร์ เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม2538 มีนายอั้น รักษาชล เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้โดยทรัพย์ของนายเขียว จันทร์คำ รวม 3 แปลง ขายได้ในราคา70,000 บาท 40,000 บาท และ 13,000 บาท ตามลำดับ ทรัพย์ของนายวิรัตน์ ทองรักจันทร์ ขายได้ในราคา 150,000 บาท ส่วนทรัพย์ของนายจันยา เกษรบัว ไม่มีผู้ซื้อ เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายเพราะได้เงินพอแก่การชำระค่าปรับแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานมีหนังสือลงวันที่ 7 พฤศจิกายน2538 ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือถือนายอำเภอชะอวดเพื่อโอนสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ต่อไป ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงนายอำเภอชะอวดให้โอนสิทธิครอบครองแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ในวันเดียวกัน และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งเงินจำนวน 250,000 บาทให้ศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าปรับเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538
นายวิรัตน์ ทองรักจันทร์ ผู้ประกันยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 434 (433/11)เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ขณะยึดเป็นเงิน 186,025 บาทแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเพียง 150,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินถึง 36,025 บาท และราคาท้องตลาดสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดมีราคาถึง1,200,000 บาท นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังทำแผนที่ผิดจากความจริงกล่าวคือ ระบุว่าที่ดินอยู่ห่างถนนประมาณ 800 เมตรความจริงที่ดินพิพาทห่างจากถนนเพียง 120 เมตร ทำให้ราคาซื้อขายต่างกันมาก ผู้ซื้อและผู้ร่วมประมูลซื้อต่างเป็นพวกเดียวกันสมรู้ร่วมคิดกัน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินของผู้ร้องไปในราคาเพียง 150,000 บาท จึงต่ำกว่าความจริงหลายเท่าทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
นายอั้น รักษาชล ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้เข้าประมูลซื้อทรัพย์พิพาทโดยเปิดเผยต่อหน้าบุคคลจำนวนมากเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติการขายให้แก่ผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องทราบวันขายทอดตลาดเป็นอย่างดีแต่ไม่มารักษาผลประโยชน์ของตน ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ผู้คัดค้านเป็นราคาที่เหมาะสมแก่สภาพที่ดินแล้ว เพราะราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกำหนดราคาไว้เพียง 123,320 บาท เท่านั้น ส่วนราคาท้องตลาดก็ไม่เกิน 130,000 บาท การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 434 (433/11)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 434 (433/11)เป็นสวนยาง มีต้นยางพาราปลูกเต็มพื้นที่สามารถกรีดยางได้แล้วอยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์ รถยนต์เข้าถึงตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ขณะยึดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ไว้186,025 บาท ผู้คัดค้านประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ในราคา 150,000 บาท ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เห็นว่าการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามคำสั่งศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลสูงสุดในการประมูลครั้งนั้นต่ำไป เป็นราคาที่ไม่สมควร หรือควรที่จะได้ราคาสูงกว่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดได้” คดีนี้ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์พิพาทจำนวน 186,025 บาท ซึ่งทรัพย์พิพาทอยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์และอยู่ห่างจากถนนลาดยางสี่แยกควนเงิน168 เมตร จึงอยู่ในทำเลที่ดิน แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะกำหนดราคาประเมินทรัพย์พิพาทไว้จำนวน 123,320 บาท แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษี จึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริง ทั้งทรัพย์พิพาททำประโยชน์แล้วโดยทำสวนยางมีต้นยางพาราปลูกเต็มพื้นที่ และสามารถกรีดยางได้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงควรตั้งราคาขายขั้นต่ำเท่ากับราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้ผู้คัดค้านไปในราคาเพียง 150,000 บาท ทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรก และมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว โดยไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรีบด่วนขายไปในราคานี้การขายทอดตลาดจึงส่อไปในทางรวบรัด พิเคราะห์ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าหากมีการประกาศขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนมาตรา 513 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 308 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้
ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้เป็นรายได้แผ่นดินเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2538 การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้ร้องมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 หลังการบังคับคดีเสร็จลงจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกัน นายประกันก็ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้เป็นเจ้าหนี้คือแผ่นดินแผ่นดินย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับชำระเงินค่าขายทอดตลาด ยังไม่ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระเงินซึ่งได้ความตามหนังสือที่ ยธ 0420.01/4988 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน2538 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งเงินค่าปรับที่ได้จากการขายทอดตลาด และจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายให้ศาลชั้นต้นเพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดินเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 เวลา 15 นาฬิกา ผู้ร้องยื่นคำร้องในวันเดียวกันเวลา 9.30 นาฬิกาจึงเป็นการยื่นคำร้องก่อนเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ถือได้ว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องในวันที่ 14 พฤศจิกายน2538 จึงไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์แห่งการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนี้ได้และกรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 434 (433/11) และดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทใหม่