แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในการพิจารณา คดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด การที่โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ขู่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาเป็นของกลาง และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียน คงได้ความจากจำเลยที่ 1เพียงว่าไม่เคยได้รับอนุญาตจากราชการให้มีและพกพาอาวุธปืนเท่านั้น ดังนี้จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้
ความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของโจทก์เท่านั้นว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมมือกันมีอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียน 1 กระบอก โดยไม่ได้รับอนุญาต กับร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2นำเอารถจักรยานยนต์ซึ่งยังมิได้เสียภาษีประจำปีใช้ขับขี่และไม่ได้รับใบอนุญาตให้ขับรถจากนายทะเบียน ทั้งไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายการเสียภาษีติดไว้ที่รถ นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองยังร่วมชิงทรัพย์เอาสร้อยคอทองคำของนายสมนึก ช่อรัมย์โดยใช้อาวุธปืนที่ติดตัวไปจี้ขู่เข็ญ และยังได้ร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการกระทำผิด ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,339, 340 ตรี, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2491 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 11, 42, 60, 64 พระราชบัญญัติรถยนต์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 7 และริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 339 และมาตรา 340 ตรี(ที่ถูกเป็น 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี)ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยที่ 1มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72และมาตรา 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6 และ 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 6, 11, 42, 60 และมาตรา 64 พระราชบัญญัติรถยนต์(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 7 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1อายุ 17 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 แล้ว ลงโทษจำเลยที่ 1 ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ จำคุก 7 ปี6 เดือน ข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ข้อหาพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ จำคุก 15 ปี ข้อหานำรถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีมาใช้ ปรับ 500 บาท ข้อหาขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต ปรับ 500 บาท และข้อหานำรถจักรยานยนต์มาใช้โดยไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีติดไว้ที่รถปรับ 500 บาท รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปีและปรับ 1,500 บาท รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบเสีย คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่1 ในข้อหาเกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในข้อหาขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และลงโทษจำเลยที่ 2ในความผิดฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหามีว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่และจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1ตอบคำถามค้านของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีและพกพาอาวุธปืนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิด ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ขู่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาเป็นของกลาง และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียน จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นก็เช่นกันคงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามฟ้องไม่ได้…”
พิพากษายืน