คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยและธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น สิทธิถอนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันขาดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 334 วรรคสอง (2) เหตุที่สำนักงานวางทรัพย์กลางยังไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยและธนาคาร ก. ต่างขอรับเงินจำนวนนี้ จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าแท้จริงแล้วผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ สำนักงานวางทรัพย์กลางต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิที่แท้จริง แม้จะล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้รับการบอกกล่าว ก็ไม่ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้ระงับสิ้นไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 339

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ภายหลังโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2534 โจทก์ที่ 1 นำเงินค่าเช่าไปวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง โดยอ้างว่าจำเลยไม่ยอมรับชำระค่าเช่า ครั้นวันที่ 7 เดือนดังกล่าว สำนักงานวางทรัพย์กลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เพิ่มชื่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มีสิทธิขอรับเงินค่าเช่าที่วางได้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534 และวันที่ 4 กันยายน 2534 จำเลยและธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอรับเงินที่วางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลางมีคำสั่งให้รอการจ่ายเงินดังกล่าวเนื่องจากเจ้าหนี้มารายเดียวไม่พร้อมกัน ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางขอถอนเงินวางทรัพย์จำนวน 3,196,124.40 บาท เพราะเจ้าหนี้ทั้งสองรายไม่มาขอถอนเงินวางทรัพย์ จนระยะเวลาล่วงเลยไปกว่า 10 ปี แต่เจ้าพนักงานสำนักงานวางทรัพย์กลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง หากไม่เห็นชอบด้วยคำสั่งให้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 อธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้นัดพร้อมจำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มาเพื่อพิสูจน์สิทธิว่าผู้ใดจะมีสิทธิรับเงินวางทรัพย์ ขอให้มีคำสั่งว่า คำสั่งของอธิบดีกรมบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ไม่มีสิทธิรับเงินที่โจทก์ที่ 1 วางทรัพย์ไว้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ประเด็นที่พิพาทในชั้นนี้เป็นเรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับเงินที่โจทก์ที่ 1 วางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระค่าเช่าแก่จำเลย คำสั่งของอธิบดีกรมบังคับคดีที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนเงินวางทรัพย์ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในคดีนี้ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ไว้วินิจฉัยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า ขอให้บังคับจำเลยแก้ไขสัญญาเช่าจาก 3 ปี เป็น 6 ปี ขอแก้ไขคู่สัญญาและจดทะเบียนสิทธิการเช่า การวางเงินต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางของโจทก์ที่ 1 ก็โดยเจตนาจะชำระค่าเช่าเพื่อให้เจ้าหนี้ที่แท้จริงรับไป เมื่อโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนเงินจำนวนดังกล่าว เจ้าพนักงานสำนักงานวางทรัพย์กลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องและต่อมาอธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนเงินที่วางทรัพย์ คำสั่งของเจ้าพนักงานสำนักงานวางทรัพย์กลางและอธิบดีกรมบังคับคดี จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ไว้วินิจฉัยจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิถอนเงินที่วางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางคืนหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อสำนวนความขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยพยานหลักฐานในสำนวนและเอกสารท้ายคำร้องลงวันที่ 15 กันยายน 2546 ของโจทก์ที่ 1 เพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน เห็นว่า วันที่ 2 สิงหาคม 2534 โจทก์ที่ 1 วางเงินต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางอ้างว่าจำเลยไม่ยอมรับค่าเช่า วันที่ 7 เดือนดังกล่าว โจทก์ที่ 1 เพิ่มธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มีสิทธิขอรับเงินค่าเช่าที่วางไว้วันที่ 8 สิงหาคม 2534 และวันที่ 4 กันยายน 2534 จำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ขอรับเงินที่วางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลางมีคำสั่งให้รอการจ่ายเงินดังกล่าวเนื่องจากเจ้าหนี้มารายเดียว เมื่อจำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น สิทธิถอนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันขาดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 334 วรรคสอง (2) เหตุที่สำนักงานวางทรัพย์กลางยังไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ต่างขอรับเงินจำนวนนี้ จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าแท้จริงแล้วผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ สำนักงานวางทรัพย์กลางต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิที่แท้จริง แม้จะล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้รับการบอกกล่าว ก็ไม่ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้ระงับสิ้นไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินวางทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 339 คำสั่งเจ้าพนักงานสำนักงานวางทรัพย์กลางและคำสั่งอธิบดีกรมบังคับคดีที่ให้ยกคำร้องขอถอนเงินวางทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และคำสั่งอธิบดีกรมบังคับคดีที่ให้นัดพร้อม จำเลยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มาพิสูจน์สิทธิ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share