คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3673/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้นำสืบหนังสือยินยอมของสามีจำเลยที่ให้จำเลยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่กลับสืบพยานบุคคลแทนหนังสือให้ความยินยอม และการที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยมีหนังสือยินยอมของสามีมาด้วย ก็ถือได้ว่าเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงว่าสามีจำเลยได้ให้ความยินยอมนั่นเอง จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความยินยอมจากสามีให้ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 316 และ 317 ให้แก่โจทก์ในราคา 540,000บาท โจทก์วางมัดจำไว้ 40,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนที่ดินภายในเดือนสิงหาคม 2531 แต่จำเลยผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยรับชำระเงินจำนวน 500,000 บาท จากโจทก์ และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินสมรสจำเลยกับนายบุญส่งสามีจำเลย จำเลยสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้สามีจำเลยซึ่งไปทำงานต่างประเทศให้ความยินยอมก่อนแต่เมื่อถึงกำหนดเวลาโอน สามีจำเลยยังมิได้กลับมาจากต่างประเทศและมิได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดิน สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยรับเงินจำนวน 500,000บาท จากโจทก์ และไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายบุญส่ง สมพรผาสุขสามีจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า สามีจำเลยได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินพิพาทด้วยหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้” ท่านว่าเป็นโมฆะ ฯลฯ” และตามมาตรา 1479บัญญัติว่า “การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องได้รับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ” ดังนั้น ในกรณีที่นายบุญส่งสามีจำเลยต้องให้ความยินยอมแก่จำเลยเช่นนี้ จึงต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือด้วยแต่ปรากฎว่าในชั้นพิจารณาสืบพยาน โจทก์มิได้นำสืบหนังสือให้ความยินยอมของสามีจำเลยแสดงต่อศาลตามที่กฎหมายบังคับไว้แต่อย่างใด แต่กลับสืบพยานบุคคลแทนหนังสือให้ความยินยอมและการที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยมีหนังสือยินยอมของสามีมาด้วยก็ถือได้ว่าเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงว่าสามีจำเลยได้ให้ความยินยอมนั้นเอง จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ทั้งมิใช่กรณียกเว้นตามวรรคสองของมาตรา 94อีกด้วย เช่นนี้ ศาลจะรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบแทนพยานเอกสารดังกล่าวมิได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความยินยอมจากสามีให้ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share