คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้าน กล่าวหาว่าผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้อง โดยฟังว่าไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คดีถึงที่สุด ดังนั้นการที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านเป็นคดีนี้อันเนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องขออนุญาตเลิกจ้างหรือลงโทษผู้คัดค้านควบคู่ไปทั้งสองกรณีได้ในคดีก่อนอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 52 จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายชูศักดิ์ อ่อนแก้ว เป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ได้ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 โดยไม่ยื่นใบลาเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายชูศักดิ์ด้วยการตักเตือน

นายชูศักดิ์ อ่อนแก้ว ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นมูลกรณีและประเด็นเดียวกันกับคดีนี้และศาลสั่งยกคำร้องไปแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ในระหว่างพิจารณา ผู้ร้องแถลงรับว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านจริง ผู้คัดค้านแถลงรับว่าผู้คัดค้านขาดงานโดยไม่ได้ยื่นใบลาตามข้อบังคับจริง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีไม่เป็นฟ้องซ้ำ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านขาดงานโดยมิได้ยื่นใบลาตามข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิลงโทษผู้คัดค้านได้จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยกล่าวหาว่า ผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์2527 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านขาดงานสาเหตุเนื่องจากผู้คัดค้านป่วย ถือไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ยกคำร้องของผู้ร้อง คดีถึงที่สุดโดยผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำสั่ง จากนั้น ผู้ร้องมายื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านเป็นคดีนี้ ดังนี้ เห็นว่าการที่ผู้คัดค้านขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โดยมิได้ยื่นใบลาตามข้อบังคับของผู้ร้อง เป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องขออนุญาตเลิกจ้างหรือลงโทษผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ซึ่งผู้ร้องอาจร้องขอลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองกรณีควบคู่ได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว แม้คดีก่อนศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของผู้ร้องหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นซึ่งจะต้องวินิจฉัยคดีนี้ก็อาศัยเหตุเดียวกันกับคดีก่อน กล่าวคือ เนื่องจากการขาดงานของผู้คัดค้านในคราวเดียวกันนี้เอง คดีจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share