คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มอบเงินครบจำนวนตามสัญญากู้ให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยยอมให้หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า เป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของเงินต้นตามสัญญากู้ ไม่เป็นการรับฟังพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้ ส่วนการที่โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วในวันทำสัญญากู้ ก็เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงการรับฟังพยานบุคคลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
เมื่อไม่ปรากฏว่าในวันกู้ยืมเงินโจทก์ได้มอบเงินให้แก่จำเลยตั้งแต่เวลาใด ถือไม่ได้ว่าเริ่มการในวันนั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มทำการงานตามประเพณีจึงต้องห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมคำนวณเข้าด้วย
เมื่อสัญญากู้เงินระบุให้คิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีและในปี พ.ศ. 2519 ที่กู้ยืมกันมี 366 วัน การคำนวณดอกเบี้ยต้องถือว่าระยะเวลา 1 ปีมี 366 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2519 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 500,000บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 9 มิถุนายน 2519 จำเลยได้รับเงิน 500,000 บาทไปจากโจทก์ในวันทำสัญญากู้เงิน ครั้นถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินต้นคงชำระแต่ดอกเบี้ยต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2519 จำเลยชำระเงินต้นให้โจทก์ แต่ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2519 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2519 เป็นจำนวน 41,712 บาทจำเลยไม่ยอมชำระให้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำนวน 8,708 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 50,420 บาท พร้อมด้วยค่าเสียหายคิดเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจากเงินจำนวน 41,712 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 487,260บาท 27 สตางค์ กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 2 เดือน จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์กรอกข้อความว่าจำเลยกู้ยืมไป 500,000 บาท ซึ่งเป็นความเท็จสัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม จำเลยได้รับเช็คจำนวน 487,260 บาท 27 สตางค์จากโจทก์แทนเงิน ส่วนที่เหลือโจทก์อ้างว่าเป็นดอกเบี้ยหักไว้ล่วงหน้า ซึ่งคิดเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีอันเป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย ส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ จำเลยมิได้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และค่าเสียหายเป็นการคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จำเลยไม่ต้องชำระเช่นกัน เนื่องจากจำเลยได้จ่ายเช็คให้โจทก์จำนวน 500,000 บาท เกินกว่าเงินที่จำเลยรับมาจากโจทก์ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์คืนเงินให้จำเลยพร้อมด้วยค่าเสียหายร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ให้การฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง สัญญากู้เงินไม่ปลอมและการกู้สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยผิดนัดต้องเสียค่าปรับให้โจทก์ กับต้องชำระค่าเสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับจำนวนเงินค่าปรับ จำเลยชำระเงินให้โจทก์เท่าจำนวนที่กู้จึงเรียกคืนไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน41,712 บาทให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2519 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2519 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2519 เป็นเวลา 201 วันคิดเป็นเงิน 41,301 บาท 37 สตางค์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในดอกเบี้ยที่ค้างชำระเพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยค้างชำระ ฟ้องแย้งของจำเลยทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 41,300 บาท 37 สตางค์แก่โจทก์คำขอให้ใช้ค่าเสียหายให้ยก และให้ยกอุทธรณ์เกี่ยวกับฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000บาท จำเลยยอมให้โจทก์หักดอกเบี้ยล่วงหน้า ฉะนั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์หักไว้จึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินต้น ถือได้ว่าโจทก์ส่งมอบเงินกู้ให้จำเลยครบ 500,000 บาทตามสัญญา กับเชื่อว่าขณะจำเลยลงลายมือชื่อ สัญญากู้เงินได้กรอกข้อความไว้เรียบร้อยแล้วจึงไม่เป็นสัญญาปลอมและจำนวนเงินในสัญญากู้ไม่เป็นเท็จ

ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า การกู้ยืมเงินเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง สัญญากู้เงินระบุว่า กู้เป็นจำนวน 500,000 บาท ผู้กู้ได้รับเงินครบถ้วนถูกต้องแล้วในวันทำสัญญา และรายการชำระหนี้แนบท้ายสัญญาเงินกู้ระบุว่า วันถึงกำหนดชำระดอกเบี้ย 12,729 บาท 73 สตางค์ ชำระเงินต้น 500,000 บาท การที่โจทก์ส่งมอบเงินต้นให้จำเลยเพียง 487,260 บาท 27 สตางค์ แล้วศาลยอมรับฟังพยานบุคคลว่า จำเลยตกลงให้โจทก์หักดอกเบี้ยล่วงหน้ากับเชื่อว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 500,000 บาท เป็นการรับฟังพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติมพยานเอกสาร ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์นำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มอบเงินจำนวน 500,000 บาท ตามสัญญาผู้ให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยยอมให้เห็นว่าโจทก์มอบเงินจำนวน 500,000 บาท ตามสัญญากู้ให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยยอมให้โจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า อันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของเงินต้นตามสัญญากู้ การที่ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลของโจทก์จึงไม่เป็นการรับฟังพยานบุคคลแแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ส่วนรายการชำระหนี้แนบท้ายสัญญากู้เงินระบุไว้ความว่า จำเลยจะชำระต้นเงิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย 12,739 บาท73 สตางค์ให้โจทก์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2519 การที่โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วในวันทำสัญญากู้เงิน จึงเป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงการรับฟังพยานบุคคลของศาลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีเป็นโมฆะนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลานับเป็นวันก็ดี สัปดาห์ก็ดี เดือนฤาปีก็ดี ท่านมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเอง ตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มทำงานกันตามประเพณี” คดีนี้ไม่ปรากฏว่าในวันที่ 9 เมษายน 2519 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงิน โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยตั้งแต่เวลาใด ถือไม่ได้ว่าเริ่มการในวันนั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มทำการงานกันตามประเพณี จึงต้องห้ามมิให้นับแรกแห่งระยะเวลารวมคำนวณเข้าด้วย ระยะเวลากู้ตามสัญญากู้เงินจึงเป็นเวลา 61 วัน สัญญากู้เงินข้อ 2 ระบุว่า “ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลานับเป็นสัปดาห์ก็ดี เดือนฤาปีก็ดี ท่านให้คำนวณตามปฏิทินในราชการ” เมื่อกู้เงินให้คิดเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มี 366 วัน การคำนวณดอกเบี้ยจึงต้องถือว่าระยะเวลา 1 ปีมี 366 วัน ด้วยวิธีการคำนวณดังกล่าวเงินต้นจำนวน 500,000 บาท ระยะเวลากู้ 61 วัน จะเป็นดอกเบี้ย 12,500 บาท โจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 12,739 บาท 73 สตางค์ จึงเกินจำนวนไป 239 บาท 73 สตางค์ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจผิดคิดว่าระยะเวลากู้ตามสัญญากู้เงินเป็นเวลา 62 วัน และระยะเวลา 1 ปีมี 365 วันตามปกติกรณีมิใช่เป็นเรื่องเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าจึงไม่ตกเป็นโมฆะ

เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ส่งมอบเงินให้จำเลยครบ 500,000 บาท ตามสัญญากู้ และปีที่จำเลยกู้เงินโจทก์มี 366 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ย 41,188 บาท52 สตางค์ เมื่อนำดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกไว้เกินจำนวน 239 บาท 73 สตางค์มาหักออก จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อีก 40,948 บาท 79 สตางค์

สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องแย้งไม่เกินสองหมื่นบาท คู่ความต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ทั้งข้อที่จำเลยฎีกาก็เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 40,948 บาท 79 สตางค์ แก่โจทก์และให้ยกฎีกาสำหรับฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share